ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๐. แผนพัฒนาคน จังหวัดสงขลา

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในโต๊ะอาหารเย็น ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เลี้ยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่กรุณาไปให้ข้อคิดเห็น ว่า มอ. ควรทำอะไรเพื่อการพัฒนาจังหวัดสงขลา และภาคใต้ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ท่านอดีต รมช. มหาดไทย บัญญัติ จันทน์เสนะ ไปร่วมในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ และให้ความเห็นที่ติดใจผม จนต้องนำมาเขียนบันทึกนี้ คือเรื่องการร่วมกันใน ๑๕ ภาคี ของจังหวัดสงขลา ทำแผนพัฒนาคนของจังหวัด

การพัฒนาคน เป็นยอดของการพัฒนาทั้งปวง นี่คือความเชื่อของผม และผมนำมาใช้กับตนเองว่า การพัฒนาตน คือเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

ต่อไปนี้คือจินตนาการเป้าหมายและแนวทาง ของการดำเนินการพัฒนาคน ของจังหวัดใดก็ได้

พัฒนาคนในทุก sector และทุกช่วงอายุ ซึ่งหมายความว่า รวมทั้งชาวบ้านธรรมดาๆ ด้วย

เน้นการพัฒนาจากการลงมือทำหรือการปฏิบัติ เน้นการรวมกลุ่มกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ (interactive learning through action) เน้นเอาความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อยกระดับความรู้ ผ่านการปฏิบัติ เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยกิจกรรมทั้งหมด ทำในชุมชนภูมิลำเนาของผู้นั้น/กลุ่มนั้น อาจมีการไปดูงานนอกพื้นที่บ้าง และอาจมีวิทยากร/นักวิชาการจากภายนอกมาใช้ความรู้เชิงทฤษฎี ร่วมตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

เน้นเด็กและเยาวชนด้วย โดยเน้นการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรมจิตอาสา หรือกิจกรรมเชิงธุรกิจ

หน่วยงาน/องค์กรสนับสนุน เน้นการสนับสนุน “คุณอำนวย” จัดกระบวนการเรียนรู้ แบบแลกเลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

มีวงเรียนรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนวทางข้างต้นกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน โดยอาจมีหมู่บ้านละหลายวง เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัด

มีมหกรรมประจำปี

วิจารณ์ พานิช

๗ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2014 เวลา 15:58 น.