ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๓. รับใช้สถาบันอันเป็นที่รัก

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คำนิยม

หนังสือ จับความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่

วิจารณ์ พานิช

...................

การวิจัยเป็นการสร้างความรู้ การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จึงเป้นการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่ แต่งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ของ สกว. มีลักษณะพิเศษตรงที่มีคนในพื้นที่นั้นเองเป็นผู้มีบทบาทในการทำวิจัย ในลักษณะที่ “ผู้ใช้ผลงานวิจัยเป็นผู้ทำวิจัย” การวิจัยแบบนี้จึงไม่มีวันเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะผู้ใช้ผลงานวิจัย ที่เข้าร่วมจะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และจะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทันทีที่เห็นโอกาส โดยไม่รอ ให้งานวิจัยเสร็จสิ้น

หนังสือเล่มนี้เขียนในลักษณะที่ไม่เน้นความเป็นรายงานวิจัยหรือวิชาการ เน้นให้ง่านง่าย เพื่อให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ข้อความในหนังสือรวม ๑๒ บท คือบทของแต่ละจังหวัดรวม ๘ จังหวัด บทนำ บทส่งท้าย และบทพิเศษอีก ๒ บท รวมเป็น ๑๒ บท ให้ภาพการสังเคราะห์ผลงานวิจัย ชี้ให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ เห็นผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ อย่างชัดเจน

อ่านแล้วทำให้ผมเข้าใจภาพรวมของแต่ละพื้นที่ ที่ผมไม่เคยเข้าใจมาก่อน เอาไปเล่าให้คนที่เป็น ผู้เคยมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ก็พบว่าเขาไม่เคยทราบมาก่อน เช่นคนกรุงเทพที่บ้านเดิมเป็นคนสุราษฎร์ธานี ไม่เคยทราบว่าที่สุราษฎร์ธานีมีปัญหาจากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ไม่เคยทราบว่ามีคนถึง ๓ แสนคนเป็น ประชากรแฝง เขาทราบว่าที่เกาะสมุยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีคนภายนอกเข้าไปทำงานมาก เขาไม่เคยรู้ว่า มีการแย่งชิงพื้นที่ในอ่าวบ้านดอนเพื่อทำฟาร์มหอย ผมเองรู้ว่าการแย่งชิงทรัพยากรจะเป็นปัญหาหลักของสังคม ไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ก็ได้มาเรียนรู้ของจริง เมื่อได้อ่านเอกสารนี้

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ แบบนี้ มีประโยชน์ต่อพื้นที่ในภาพรวมอย่างแน่นอน ผมจึงฝันเห็นภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกับภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาเป็นเจ้าของ และริเริ่ม โครงการวิจัยแบบนี้ โดยไม่รอทรัพยากรคือทุนวิจัยจาก สกว. เพราะเวลานี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่มีทรัพยากรเพื่อการนี้อยู่แล้ว และเพราะ สกว. มีทรัพยากร โดยเฉพาะเงิน จำกัด

เมื่อท้องถิ่นเข้ามาริเริ่มโครงการวิจัย และลงทุนวิจัยเอง สิ่งที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่” ก็จะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง สังคมไทยจะได้เห็นตัวอย่างงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ที่ดำเนินการโดยพื้นที่ เพื่อพื้นที่ ไม่ใช่ดำเนินการโดย สกว. เพื่อพื้นที่

ผมเชื่อว่า ในกรณีเช่นนี้ สกว. จะสามารถร่วมเรียนรู้และรวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ออกมา เป็นหนังสือจับความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยพื้นที่ ต่อยอดจากหนังสือเล่มนี้ อันจะเป็นเส้นทาง สู่การพัฒนาประเทศไทยสู่ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่มีการเรียนรู้ และสร้างความรู้ขึ้นใช้งาน ในทุก กิจกรรมในสังคม อันจะเป็นเส้นทางสู่การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง นำพาประเทศไทย สู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อ สกว. และต่อคุณ ตปากร พุธเกส ที่จัดทำหนังสือที่ทรงพลังเล่มนี้ ที่ช่วยส่องทางให้สังคมไทยเห็นโอกาสและลู่ทางที่ท้าทาย และมีความหมายต่ออนาคตของประเทศ เพื่อเดินทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นการพัฒนาบนฐานความรู้ที่ร่วมกันสร้างเองในการประกอบสัมมาชีพ และในการประกอบกิจการทุกด้าน

วิจารณ์ พานิช

อดีตผู้อำนวยการ สกว. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:03 น.