สอนอย่างมือชั้นครู : ๗. เคารพสิทธิทางปัญญา

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๗ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Courses มี ๕ บท ตอนที่ ๗ ตีความจากบทที่ 6. Copyright Guidelines for Instructors

สรุปได้ว่าคนที่เป็นอาจารย์ต้องระมัดระวัง อย่าให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทางปัญญา และที่ร้ายแรง กว่าคือถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้มหาวิทยาลัยควรมีระบบจัดการช่วยเหลืออำนวย ความสะดวกแก่อาจารย์ รวมทั้งมีข้อกำหนดแนวปฏิบัติแก่อาจารย์ ภายใต้การคุ้มครองของมหาวิทยาลัย

หนังสือเล่มนี้อ้างกฎหมายอเมริกัน เข้าใจว่าเคร่งครัดกว่ากฎหมายไทย

สิทธิทางปัญญาเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการค้า การใช้ประโยชน์ข้อความ ส่วนหนึ่งของหนังสือ ส่วนหนึ่งของวารสาร ดีวีดี ภาพ ภาพยนตร์ ฯลฯ ทำสำเนาแจกนักศึกษา หรือนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของ มัลติมีเดียที่ใช้ในการสอน แค่ไหนถือเป็นการใช้งานตามปกติ (fair use) แค่ไหนถือเป็นการใช้เพื่อการศึกษา (educational use) ไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า คนที่เป็นอาจารย์พึงระมัดระวัง และสอบถามผู้รู้

หนังสือบทนี้ให้รายละเอียดมาก แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่จะนำมากล่าว เพราะเป็นเรื่องตามกฎหมาย ของสหรัฐอเมริกา

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิทางปัญญาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยควรทราบคือ การอ้างอิงหรือให้เครดิต แก่เจ้าของชิ้นงาน ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากการถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิทางปัญญา แต่เป็นเหตุให้ไม่ถูกข้อหา ขโมยผลงาน (plagiarism)

การที่ไม่มีข้อความระบุลิขสิทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าปลอดจากลิขสิทธิ์ และการนำเอาชิ้นงานที่ มีลิขสิทธิ์มาดัดแปลง และอ้างเป็นผลงานของตน ไม่เป็นเหตุให้รอดพ้นจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จะมี โทษหนักขึ้น จากการเอาผลงานของผู้อื่นไปดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

หลักการทั่วไปที่ควรรู้คือหลักการ ใช้ได้ฟรี (Free Use) ซึ่งใช้ได้ในกรณี (๑) ใช้งานตามปกติ (Fair Use), (๒) ใช้ข้อเท็จจริง (Fact), และ (๓)ใช้สิ่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ (Public Domain)

ใช้งานตามปกติ ความหมายที่ครอบคลุมคือ ไม่ได้ใช้เพื่อผลทางธุรกิจ ยิ่งหากเอามาใช้ทางการศึกษา ก็ยิ่งปลอดภัย แต่เอามาใช้ทางการศึกษาก็เถอะ อาจละเมิดลิขสิทธิ์ได้ หากเป็น DVD และเขาระบุว่า For Home Use Only เอามาใช้ฉายให้นักศึกษาดูในห้องเรียนผิดไหม เพราะไม่ได้ใช้ทางธุรกิจ และใช้ทางการศึกษา นี่คือความไม่ชัดเจน ต้องปรึกษานักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไทย และทางมหาวิทยาลัยควรมีข้อกำหนด เป็นคำแนะนำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ให้อาจารย์เข้าไปอ่านได้

ใช้งานตามปกติ เขาระบุว่า รวมถึงการใช้ใน งานสอน ใช้ทำงานวิชาการ วิจัย วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน และใช้รายงานข่าว แต่ถ้าเอาผลงานสร้างสรรค์ไปใช้ ก็อาจมีปัญหา ความยุ่งยากอยู่ที่ไม่มีเส้นแบ่งชี้ชัดระหว่าง ผลงานที่เป็น ข้อเท็จจริง (factual) กับผลงานสร้างสรรค์ (creative work)

คำแนะนำในทางปฏิบัติคือ หากการนำไปใช้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจกับผลงานเดิม ก็อาจมีปัญหาเรื่อง การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ ดังตัวอย่างเอารูปจากอัลบั้มภาพที่มีขายไปใช้ หากคุณภาพของรูปที่ถ่าย สำเนาเอาไปใช้มีความคมชัดด้อยลง ก็พอจะสบายใจได้ว่าจะไม่มีปัญหา

ผลงานที่อาจนำมาใช้ มีทั้ง ข้อความจากสิ่งพิมพ์ ทัศนวัสดุ บันทึกรายการแสดง วัสดุจาก อินเทอร์เน็ต แต่ละประเภทมีรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวัง ทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ที่จริงทางที่รอบคอบที่สุดคือ ขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิทางปัญญาเสียก่อน แต่หากขออนุญาตโดยไม่จำเป็นก็ทำให้เสียเวลาและแรงงาน ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรมีเอกสารคำแนะนำวิธีใช้ผลงานของผู้อื่นหรือแหล่งอื่นอย่างปลอดภัยไว้ให้ตรวจสอบ และควรมีผู้ชำนาญการด้านนี้ไว้คอยให้คำปรึกษา ซึ่งผมคิดว่า น่าจะอยู่ที่หอสมุดและคลังความรู้

สำหรับเอกสาร ข้อเขียน และคำบรรยายของผม ยกให้เป็นสมบัติสาธารณะ ข้อเตือนใจคือ ผมไม่ยืนยันความถูกต้องเสมอไป เพราะหลายส่วนเป็นการตีความของผมเอง ซึ่งอาจผิดพลาดได้

วิจารณ์ พานิช

๓ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:55 น.