การศึกษาแนวสวนกระแส

วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ มีวาระเรื่อง “มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผล ของหลักสูฏตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพของบัณฑิต”

หลักสูตรนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลักแล้วเขียน “ปัญญานิพนธ์” เพื่อยืนยันการเรียนรู้ของตน

ผู้รับผิดชอบหลักสูตร บอกว่า เนื่องจากเป็นหลักสูตร “ผู้ประกอบการสังคม”จึงต้องมีหลักฐานการ เป็นผู้ประกอบการ คือทำธุรกิจได้สำเร็จมีการนำหมี่โคราชตราหมูน้อยอารมณ์ดี มาให้ดูและแจกกรรมการสภาคนละ ๑ ซองด้วย และต้องมีหลักฐานการทำประโยชน์แก่สังคมด้วยโดยที่นักศึกษาต้องเสนอ “บันทึกความดี” ประกอบการสมัครเป็นนักศึกษา

กรรมการสภาฯ ซักถาม และออกความเห็นกันมากว่าจะวัดคุณภาพการศึกษาแบบนี้อย่างไร

ผมจึงเสนอว่า การศึกษาตามหลักสูตรนี้เป็นการศึกษาแนวทวนกระแสโดยที่การศึกษาตามปกติ จะเรียนทฤษฎีก่อนเมื่อมีความรู้ทฤษฎีดีพอแล้ว จึงนำความรู้นั้นไปฝึกปฏิบัติแต่หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ตรงกันข้ามเน้นที่การเรียนภาคปฏิบัติเลย โดยไม่ต้องเรียนทฤษฎีก่อนและทดสอบหรือวัดความรู้ปฏิบัติ จากผลงานที่เกิดขึ้นจึงมีคำถามว่า การเรียนจากการปฏิบัติ และวัดที่ผลงานพอไหม สำหรับให้ปริญญาตรี

คำตอบของผม (ซึ่งไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) คือไม่พอเพราะเรียนแค่ปฏิบัติได้และเขียนรายงานเพื่อ อธิบาย What และ How ได้ ไม่เพียงพอต่อการที่จะเไปเรียนรู้ต่อเนื่องในภายหน้าจะให้พอ นักศึกษาต้องอธิบาย Why ได้ด้วยซึ่งหมายความว่า ตอนเรียนรู้จากการปฏิบัติต้องมีการทำ Reflection / AAR เป็นระยะๆเพื่อทำความเข้าใจว่า ทำไม (Why) การปฏิบัติเช่นนั้นจึงก่อผลอย่างที่เห็นอธิบายได้ด้วยทฤษฎีอะไรบ้างอธิบายได้ครบถ้วนไหมเชื่อมโยงกับทฤษฎีอื่นอย่างไรจากการปฏิบัติ จะอธิบายทฤษฎี X ในภาษาภาคปฏิบัติ ตามประสบการณ์ตรงของเราอย่างไร

นั่นหมายความว่า ศิลปาจารย์ (อาจารย์ในหลักสูตรนี้เป็นอาสาสมัคร เรียกชื่อว่า ศิลปาจารย์) จะต้องมีทักษะในการชวนนักศึกษาตั้งเป้าการเรียนรู้ว่าในกิจกรรมภาคปฏิบัตินั้นๆเป้าหมายมี ๒ เป้าคือหาทางบรรลุผลงานกับเรียนรู้ทฤษฎี ก, ข, ค, ...แล้วหลังจากนักศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติ คอยทำหน้าที่“คุณอำนวย” (facilitator) ชวนนักศึกษา ทำ AAR การเรียนรู้ทฤษฎีเป็นระยะๆ

การฝึกฝนศิลปาจารย์ให้เข้าใจ ทฤษฎี และให้มีทักษะในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย”เพื่อช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ลึกนำประสบการณ์จากการปฏิบัติไปอธิบายความรู้ เชิงทฤษฎีได้ด้วยภาษาของตนเอง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็จะมั่นใจได้ว่าการศึกษาแนวสวนกระแสสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพจริง

การเรียนรู้ที่ลึกต้องตั้งคำถาม Whyและหาความรู้เดิม มาตอบคำถามนั้นได้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดหากค้นหาความรู้เดิมจนทั่วแล้ว ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ทั้งหมดก็เท่ากับมีการค้นพบความรู้ใหม่จากการปฏิบัติซึ่งก็จะยิ่งทำให้การเรียนรู้ยิ่งลึกขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 กันยายน 2014 เวลา 09:25 น.