ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๔๙. เพราะสะท้อนคิดจึงเรียนรู้

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ วาระชูโรงคือ “การดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning” ที่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รศ. ดร. จุฑามาส ศตสุข เป็นผู้นำเสนอ และ ศ. ดร. สนิท อักษรแก้วแนะนำว่า ควรแปลงชื่อเป็นไทยว่า การสอนแบบตื่นตัว หรือแบบกระฉับกระเฉง วาระนี้วาระเดียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นกว่าหนึ่งชั่วโมง

คนแรกที่ให้ความเห็นคือ รศ. ดร. ยืน ภู่วรวรรณ ที่บอกว่า นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยในช่วงนี้ เกิดหลัง ค.ศ. 1994 ซึ่งเป็นปีเกิดของ World Wide Web เทคโนโลยีสื่อสารนี้ได้เปลี่ยนบุคลิกลักษณะของคนรุ่นนี้ไป โดยสิ้นเชิง การจัดห้องเรียน/การเรียนรู้ จึงต้องปรับให้เหมาะกับบุคลิกลักษณะของผู้เรียน เป็นไปไม่ได้ ที่จะเปลี่ยนผู้เรียนให้เข้ากับวิธีการสอนแบบเก่า

บุคลิกลักษณะของคนยุคใหม่นี้ เช่น เป็นคนที่คุ้นกับการทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ถนัดรับข้อมูลแบบกราฟิกมากกว่าเป็นตัวอักษร อ่านเกิน ๗ บรรทัดไม่ได้ ความอดทนต่ำ จดจ่อกับเรื่องใด เรื่องหนึ่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน ๗ นาที อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบเรียนรู้จากเกม เพราะให้ความท้าทายและตื่นเต้น

ผมเสนอแนะต่อ ๒ ประเด็น คือ (๑) เก็บข้อมูลที่ตัวนักศึกษา ห้องเรียน และอาจารย์ เพื่อเอามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาทางปรับปรุงกิจกรรมในห้องเรียน การสนับสนุนเชิงระบบ และเพื่อสร้าง evidence ว่าการเรียนแบบตื่นตัวนี้ ก่อผลดีต่อนักศึกษาที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ ดีกว่าวิธีเก่า อย่างไร (๒) เสนอให้เอาใจใส่ coaching แก่นักศึกษาที่ออกไปทำงานในโครงการสหกิจศึกษา โดยทำหน้าที่ facilitate ให้นักศึกษา ทำ reflection หรือ AAR

มีคนอภิปรายต่อหลายท่าน ดีๆ ทั้งสิ้น แต่ผมขอตัดฉับไปที่ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่าขอให้ความเห็นของปีศาจ ไม่ใช่ทนายของปีศาจ (devil’s advocate) ว่าชื่นชมในข้ออภิปรายของ ดร. ยืน แต่ที่นักศึกษาได้รับจากการสอนในเวลานี้นั้น เป็น “ข้อมูล” ไม่ใช่ “ความรู้” เพราะความรู้นั้นได้มาจาก reflection ของตัวนักศึกษาเองเท่านั้น

ผมสว่างวาบทันที ว่า “เพราะสะท้อนคิดจึงเรียนรู้” กล่าวใหม่ว่า ถ้าไม่สะท้อนคิด (reflect, โยนิโสมนสิการ) ก็จะไม่ได้เรียนรู้ แม้จะเรียนอยู่ในห้องเรียน

คนเราต้องสะท้อนคิดอยู่ทุกนาที จึงจะได้เรียนรู้เต็มเปี่ยม

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:34 น.