ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๕๐. ดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ระหว่างวิ่งออกกำลังตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมฟังวิทยุ เอฟเอ็ม ๑๐๐.๕ รายการ กูดม้อร์นิ่ง อาเซี่ยน ผู้ดำเนินรายการพูดเรื่องการใช้การสื่อสารดาวเทียม ในการส่งข่าว ของวงการข่าว ว่าเดิมแพงมาก ต่อมามี อินเทอร์เน็ต ทำให้การส่งข่าวราคาลดลงอย่างมากมาย

ทำให้ผมปิ้งแว้บขึ้นว่า ความก้าวหน้านี้เกิดขึ้นจากการดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และ กระบวนการนี้ มันต่อยอดกัน นี่คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก็เพื่อการนี้

เพื่อรู้จักวิธีดึงเอาพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

แต่ธรรมชาติมันเป็นกลาง คือมีทั้งคุณและโทษ จะเป็นคุณหรือโทษขึ้นกับผู้ใช้ หรือมนุษย์ที่เป็นผู้ เข้าไปหยิบเอากระบวนการธรรมชาติมาใช้ ที่เป็นคุณคือ เมื่อทำความเข้าใจกระบวนการธรรมชาติ ก็คิดวิธีเอามาทำให้เป็นเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ อย่างกรณีเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของมนุษย์ อย่างมากมาย ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นทั้งคุณและโทษ

โทษที่เกิด และก่อผลมหาศาล คือสร้างความเหลื่อมล้ำในโลก และในสังคม เพราะมันช่วยเป็น เครื่องมือให้มนุษย์เอาเปรียบกันได้สะดวกขึ้นด้วย

กลับมาที่ข้อเรียนรู้สำหรับสังคมไทย เราอยู่ในฐานะที่จะดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ในฐานะ “ผู้สร้างสรรค์” ได้ ซึ่งหมายความว่า ตรงกันข้ามกับการเป็นผู้เสพหรือบริโภค

ผมตั้งข้อสังเกต (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่านโยบายระดับชาติของเรา มุ่งส่งเสริมการเป็นผู้เสพ มากกว่าเป็นผู้สร้าง เน้นการเสพเพื่อสะดวกสบายส่วนตัว ไม่เน้นการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สังคม หรือส่วนรวม โดยผลลัพธ์สุดท้าย คือความมั่งคั่ง ตกอยู่แก่คนจำนวนน้อย

ประชาธิปไตยต้องดูที่ผลลัพธ์สุดท้าย คือความมั่งคั่ง อยู่ดีมีสุข และอนาคตดี ที่กระจายในหมู่ ประชาชน ไม่ใช่นิยามประชาธิปไตยที่การเลือกตั้ง

การดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เชื่อมโยงไปยังกระบวนการอื่นๆ ในโลก และในสังคม กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้สังคมไทยพัฒนาไปเป็นสังคมบริโภค บริโภคสินค้าเทคโนโลยีจากประเทศอื่น หรือจากประเทศไทย ซึ่งในกระบวนการนี้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ได้รับประโยชน์ คือได้กำไรมหาศาล

นักการเมืองไทย (และโลก) มีแนวโน้มจะเข้าไปเป็นแนวร่วมนี้ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นแนวร่วม ผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมบริโภค ไม่ใช่สังคมสร้างสรรค์

สังคมสร้างสรรค์ ที่เกิดใหม่และท้าทายมหาอำนาจเก่าอย่างมาก คือเกาหลี (ใต้) เราจะเห็นยุทธวิธี ใช้เทคโนโลยีนำ (โดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่) วิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ หนุน รวมทั้งวัฒนธรรม

ดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมไทย ต้องการยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ของ การสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:44 น.