ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๕๒. อย่างไรเรียกว่าปฏิรูปการศึกษา

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ มีการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิพูนพลัง ที่บ้านลูกสาวซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านผมสาระเรื่องราวของเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนบอกชัดเจนว่า เด็กเหล่านี้ ไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะเงินแต่ยังขาดแคลนผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจเอื้ออาทรยินดีให้เวลาแนะนำปัญหาสารพัด ที่เขาประสบ

ผมบอกคณะกรรมการว่าคุณค่าสำคัญที่สุดที่มูลนิธิพูนพลังให้แก่สังคมไทย คือความเอื้ออาทร ในลักษณะเพื่อนมนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่า หรือเยาว์วัยกว่า ไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องน้ำใจที่สังคมยุควัตถุนิยมเงินนิยมนับวันจะหย่อนยานไป

ในวันนี้ มีผลงานนิทานประกอบภาพที่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ส่งเข้าประกวด ๔๔ ผลงานภาพวาด และการทำเล่มสวยงามกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัดแต่ “เลขา” บอกว่า เนื้อเรื่องมันตื้นๆสอนคุณธรรมแบบ ตรงไปตรงมาขาดความลุ่มลึกหรือซับซ้อน

ผมจึงบอกที่ประชุมว่านี่คือภาพสะท้อนของคุณภาพการศึกษาไทย เป็นผลลัพธ์ของการศึกษาที่มุ่งให้ ครูสอนแบบถ่ายทอดความรู้นักเรียนรับถ่ายทอดความรู้ แล้วจำเอาไว้ตอบข้อสอบออกข้อสอบแบบทวน ความจำนักเรียนจึงคิดไม่เป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคิดซับซ้อนไม่เป็น

นี่คืออาการของความตกต่ำของการศึกษาไทยที่จะฉุดดึงให้สังคมไทยทั้งสังคมพลอยพินาศไปด้วยเพราะจะมีพลเมืองที่ด้อยคุณภาพทั้งประเทศ ความด้อยคุณภาพนี้สะท้อนจากข้อวิจารณ์โดยอดีตประธานเจโทร ในข่าวนี้

จะเห็นว่า ข้อด้อยที่ถูกวิจารณ์เป็นปัจจัยด้าน Non-cognitive ทั้งสิ้นเป็นปัจจัยที่สอนไม่ได้ แต่ฝึกได้โดยการเรียนแบบตื่นตัว (Active Learning)ไม่ใช่แบบรับถ่ายทอด

การปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขความตกต่ำนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2014 เวลา 09:04 น.