ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๖๐. สร้างศักดิ์ศรีครู

วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุม Project for Change หรือ โครงการความร่วมมือ ระหว่างประเทศฟินแลนด์กับประเทศไทย ด้านการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งจัด ๓ วัน (๓๑ ส.ค. - ๒ ก.ย.) ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ

เป็นการประชุมร่วมระหว่างนักการศึกษาฝ่ายฟินแลนด์ ๔ คน กับฝ่ายไทยเกือบ ๓๐ คน และมีทีมทำงานอีกกว่า ๒๐ คน

การประชุมนี้ได้รับการออกแบบเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ใช้วิธีการ social lab ที่ทีม Scenario Thailand เรียนมาจาก Adam Kahane โดยที่ทีม Scenario Thailand มาช่วยงานด้วย

รูปแบบของการประชุม เริ่มจากทีมไทยนำเสนอ แล้วให้ทีมฟินแลนด์วิพากษ์และให้ความเห็น ตามด้วยทีมไทยถาม เช้า ๑ รอบ บ่ายอีก ๑ รอบ ตกเย็นเรื่องก็เข้าไคลแม็กซ์ เมื่อฝ่ายไทยถามเรื่องครู ในแง่มุมต่างๆ ทำให้เรามองเห็นว่า เดิมวิชาชีพครูของฟินแลนด์ก็ไม่ได้มีศักดิ์ศรีดีเช่นปัจจุบัน แต่การปฏิรูป การศึกษาของเขา มีส่วนทำให้ดีขึ้น และมีความเท่าเทียมกัน ระหว่างครูประถม กับครูมัธยม

มีคนถามว่า มีแรงจูงใจอะไร ที่ทำให้คนอยากเป็นครู ทีมฟินแลนด์บอกว่า เงินไม่เป็นแรงจูงใจมากนัก รายได้ของครูพอๆ กับค่าเฉลี่ย อาจสูงกว่าเล็กน้อยเท่านั้น ตัวแรงจูงใจจริงๆ น่าจะเป็นลักษณะงาน ที่ครูมี โอกาสทำงานด้านการเรียนรู้ และการพัฒนา มีโอกาสทำงานสร้างสรรค์สูง และมีอิสระที่จะสร้างสรรค์ งานของตน

ก่อนหน้านั้น ทีมฟินแลนด์บอกว่า การศึกษาฟินแลนด์ทำงานบนฐาน trust-based คือมีความเชื่อถือ ไว้วางใจครู และหาทางสนับสนุนให้ครูทำงานอย่างน่าเชื่อถือ การประเมินนักเรียนอยู่ในมือครู ครูได้รับ ความเชื่อถือไว้วางใจด้านการประเมินผลการเรียนของศิษย์ ทางส่วนกลางมีการสุ่มสอบบ้างเพื่อเป็น external QC แต่ QC ที่แท้จริงด้านคุณภาพการศึกษาเป็น internal QC ซึ่งทำโดยครู โดยที่เขามีวิธีพัฒนาให้ครูสามารถประเมิน ได้แม่นตรง

ผมเชื่อมานานแล้ว ว่าคุณภาพของการศึกษาไทยจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นกับครู และในช่วงเวลาประมาณ ครึ่งปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเยี่ยมสังเกตกิจกรรมในห้องเรียนของหลายโรงเรียน ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ครูไทยที่เรา มีอยู่สามารถเปลี่ยนวิธีการสอนจากแบบถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นแบบ โค้ช ให้นักเรียนเรียนจากการลงมือปฏิบัติ กิจกรรมได้ ผมจึงใจชื้น ว่าครูที่เรามีอยู่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเองได้ หากมีผู้บริหารที่เอาจริงเอาจัง กับการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อคุณภาพผลลัพธ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน

และผู้บริหาร ๒๑ คนที่ศรีสะเกษ สพป. เขต ๔ บอกว่าปัจจัยสำคัญที่สุดคือความเป็นอิสระ จากการ สั่งการโดยหน่วยกลาง เพื่อให้ครูมีโอกาสใช้ความสร้างสรรค์ของตนในการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ในชั้นเรียน

ถึงเวลาที่ส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหาร ที่ในปัจจุบันเป็น การบริหารที่บั่นทอนศักดิ์ศรีครู ไม่ให้อิสระในการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ของศิษย์ เพราะส่วนกลาง สั่งการในระดับปฏิบัติมากเกินไป เป็นส่วนกลางตั้งเป้าและยุทธศาสตร์กว้างๆ แล้วปล่อยให้โรงเรียนและครู มีอิสระในการคิดวิธีปฏิบัติเอง

ก็จะเป็นการพัฒนารูปแบบการบริหารที่ส่งเสริมศักดิ์ศรีครู

ศักดิ์ศรีมาจากการได้มีโอกาสรับผิดชอบ ได้มีโอกาสคิดเอง และทดลองหาวิธีการที่บรรลุ ความสำเร็จเอง

ศักดิ์ศรีมาจากการทำความดี ดังนั้นหน้าที่สำคัญของส่วนกลางคือขจัดคนที่ไม่ดี และไม่พัฒนาตัวเอง ออกไปจากระบบครู ผมคิดว่าส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการอ่อนแอมากในเรื่องขจัดครูเลว ครูไม่ทำงาน ครูที่ไม่เหมาะจะเป็นครู

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:39 น.