ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๖๒. เรียนรู้เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก

วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมได้ฟังเรื่องราวของโรงเรียนขนาดเล็กติดๆ กันสองวัน ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม และวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗

เช้าวันที่ ๓๑ สิงหาคม ในการประชุม Project for Change ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ผมได้ฟัง คุณครูสมบูรณ์ รินท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ สพป. เขต ๑ จังหวัดน่าน เล่าว่าเดิมโรงเรียนของท่านมีครู หลายคน แต่ก็ไม่ครบชั้น ต่อมาครูขอลาออกก่อนเกษียณ เหลือตัวท่านคนเดียว มี ๘ ชั้นเรียน จึงต้องจ้างครู ในหมู่บ้านมาช่วยสอน ปรากฎว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ ONET ดีขึ้น และจำนวนเด็กที่จบ ป. ๖ ไปสอบเข้า โรงเรียนประจำจังหวัดได้ ก็เพิ่มขึ้น

อีกท่านหนึ่งคือ ครูฉลุไล วงษ์ประชุม ศน. สพป. สกลนคร เขต ๒ เล่าว่าในเขตพื้นที่มีโรงเรียนทั้งหมด ๒๕๕ โรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ๑๕๐ แม้จะขาดแคลนปัจจัย แต่ก็สามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหาได้ โดยร่วมมือกันเป็นเครือข่าย

ในที่ประชุมดังกล่าว มีนักการศึกษาจากฟินแลนด์มาร่วม ๓ คน เป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษา ๒ คน และเป็นครูใหญ่โรงเรียนสาธิตนานาชาติ ๑ คน เขาบอกว่า โรงเรียนประถมของฟินแลนด์ส่วนใหญ่ก็เป็น โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะประเทศฟินแลนด์มีคนอยู่ในชนบทห่างไกลมาก จึงต้องหาวิธีจัดการศึกษาให้มี คุณภาพดีในพื้นที่ห่างไกล และต้องทดลองหาวิธีสอนที่ได้ผลดี และไม่สิ้นเปลืองมาก และพบว่าสามารถจัดการ ศึกษาระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูไม่ครบชั้น หรือมีครูคนเดียว ให้มีคุณภาพได้ โดยใช้วิธีเรียน คละชั้น ครูหนึ่งคนสอน ๒ - ๓ ชั้น โดยมีเงื่อนไขความสำเร็จ ๔ ประการ

นอกจากนั้น บางโรงเรียนใช้วิธีให้นักเรียนมาเรียน ๒ ผลัด เป็นผลัดเช้ากับผลัดบ่าย

บ่ายวันที่ ๑ กันยายน ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทางการวิจัย ของโครงการจัดตั้งสถาบัน วิจัยระบบการเรียนรู้ ที่ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งนำเสนอเรื่อง การยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก มีการนำเสนอ ตัวอย่างความสำเร็จของ แก่งจันทร์โมเดล จังหวัดเลย

ข้อมูลจากการวิจัยบอกว่า หากใช้นิยามโรงเรียนขนาดเล็ก ตาม สพฐ. ว่า เป็นโรงเรียนที่นักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน จะมีโรงเรียนขนาดเล็ก ๑๕,๐๗๙ แห่ง (ร้อยละ ๔๙) แต่โครงการนี้นิยามใหม่ ถือว่าโรงเรียนใดมี จำนวนนักเรียนเฉลี่ยน้อยกว่า ๒๐ คนต่อชั้นเรียน ถือว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีโรงเรียนขนาดเล็ก ๒๐,๘๙๒ แห่ง (ร้อยละ ๖๘)

ผมได้เรียนรู้ว่าแก่งจันทร์โมเดล เป็นการทำเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กัน ๔ โรงเรียน มีครูแห่งละ ๓ คน เมื่อมาเป็นเครือข่ายกัน แต่ละโรงเรียนสอนเพียง ๒ ชั้น คือโรงเรียนหนึ่งสอนชั้นอนุบาล ๑ - ๒ โรงเรียนที่สองสอนชั้น ป. ๑ - ๒ โรงเรียนที่สามสอนชั้น ป. ๓ - ๔ โรงเรียนที่สี่สอนชั้น ป. ๕ - ๖ เริ่มปี ๒๕๕๓ พบว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ ในปี ๒๕๕๔ ดีกว่าของปี ๒๕๕๓ อย่างชัดเจน แบบนี้เรียกว่า เรียนร่วมช่วงชั้น

ผมได้เรียนรู้ว่า ยังมีโมเดลแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ประสบผลสำเร็จอีกหลายโมเดล เช่น บ้านยางน้อยโมเดล เป็นการร่วมเรียนบางวัน ลากข้างโมเดล ที่จังหวัดเลย ชัยพัฒนาโมเดล ที่จังหวัดน่าน ทั้งหมดนี้ เกิดจากการสนับสนุนให้แต่ละพื้นที่พัฒนนวัตกรรมของตนเอง ผมขอแสดงความชื่นชมต่อ สพฐ. ในวิธี empower โรงเรียนในพื้นที่ ให้พัฒนานวัตกรรมของตนเองเช่นนี้

โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการเรียนรู้ อาศัยความรู้จากแก่งจันทร์โมเดล นำมาคิดวิธีการสร้างเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี และนำมาขอ คำแนะนำจากคณะกรรมการชี้ทิศทาง

นักวิจัยใช้ GPS จับตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน และลองจัดกลุ่มโรงเรียนตามความใกล้ไกล และตามความพร้อมที่แตกต่างกัน โดยยังมีบางโรงเรียนที่เข้ากลุ่มไม่ได้ ต้องพัฒนาด้วยวิธีอื่นๆ

นอกจากนั้น นักวิจัยยังลงพื้นที่ ไปทำความรู้จักพื้นที่ และสอบถามผู้คน แยกเป็น ๓ กลุ่ม คือ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียน ทำความเข้าใจความต้องการ และการยอมรับของแต่ละกลุ่ม

ผมให้ความเห็นว่า ต้องยึดเป้าหมายที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ที่เป็นผลลัพธ์แนวใหม่ ไม่ใช่แค่รู้วิชาตาม ONET ต้องดูที่ผลลัพธ์การเรียนรู้รอบด้าน ทั้งด้าน cognitive และ non-cognitive

การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่รู้วิชา ต้องเป็นการพัฒนาครบด้าน และต้องคำนึงว่ากระบวนการ/กิจกรรม/การจัดการ ที่ดีของโครงการ จะเข้าไป กระตุ้นให้ “ทรัพยากรแฝง” ในพื้นที่ ออกมาทำประโยชน์ให้แก่วงการศึกษา ทำให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี

ผลลัพธ์ของโครงการ ต้องไม่ใช่เพื่อหาโมเดล เอาไปใช้ในพื้นที่อื่น แต่ต้องเพื่อหาความรู้ความเข้าใจ ปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้เกิดความสำเร็จ และปัจจัยที่เป็นอุปสรรค สำหรับนำไปพัฒนารูปแบบของพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาส ในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ ในหลากหลายบริบท ของความเป็นจริงในสังคม

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2014 เวลา 00:58 น.