สันโดษ

วันอาทิตย์ที่ 04 ธันวาคม 2016 เวลา 00:00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล บทความ - การศึกษา
พิมพ์

หากไม่เข้าใจความหมายของคำว่า 'สันโดษ' ก็มักจะนิยามกันไปหลากหลาย อาจรู้จริงบ้างไม่รู้จริงบ้าง แต่ถ้าทำความเข้าใจให้รู้แจ้ง จะเข้าใจได้ว่า คำว่าสันโดษนี้มีส่วนสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'ธรรมชาติแห่งสังคมธรรมาภิบาล' กล่าวคือ หลักสุจริตธรรม ความไม่ทุจริตคดโกง ตามที่บรรพชนท่านสั่งสอนอบรมลูกหลานไทยมาว่า ความไม่ชอบมาพากลในทางโลกหลายอย่างหลายประการ มีที่มาจากการไม่รู้จักแยกแยะ ไม่รู้จักการวางตัว การทำงานก็ฉันนั้น ต้องจำแนกแยกแยะให้ได้ อะไรคือส่วนตัว หรือส่วนงาน สิ่งใดคือสันโดษ สิ่งใดคือสังคม ไม่จับมาปนเป ที่จะทำให้เกิดความพอดีและพอเพียง เป็นระบบแบบแผน ไม่มากไม่น้อย จึงสามารถนิยามคำว่าสันโดษได้ว่า คือ ความยินดี ความชอบธรรม ความพอใจ ความรู้จักพอดี ความรู้จักพอเพียง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้จักเกรงใจบุคคลอื่น

'สันโดษ' มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. พอใจในสิ่งที่มีและที่ได้มา ด้วยความเพียรพยายามของตนในทางชอบธรรม สุจริต ไม่ดิ้นรนอยากได้จนทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่สุดโต่ง ไม่เกินเลย ไม่ผิดมารยาท

๒. พอใจกับกำลังกายกำลังใจของตน ใช้กำลังที่มีอยู่ เช่น ความรู้ความสามารถ ให้เกิดผลที่สมบูรณ์ ไม่ย่อหย่อนบกพร่อง ไม่คุยโวโอ้อวด ไม่ยกตนข่มผู้อื่น อวดรู้อวดเก่ง หากแต่มีความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ที่เป็นยาวิเศษ เพื่อปฏิบัติภาระหน้าที่ทั้งหลายด้วยความรับผิดชอบและมีความสำเร็จ

๓. พอใจ ในสิ่งที่เรียกว่า พอเป็น อิ่มเป็น มีความเอื้อเฟื้อและเมตตาอารี มีจิตบริการ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นที่ถือเป็นบาป'

*ส่วนหนึ่งจากการคำกล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ณ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ (๓ ธ.ค. ๕๙)

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 04 ธันวาคม 2016 เวลา 13:39 น.