กระบวนการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย : ภูเขากั้นเส้นทางสู่ World Class Research University

วันอังคารที่ 31 มกราคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

กระบวนการสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทย ส่วนที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเอกชน เหมือนกันหมด คือตั้งคณะกรรมการสรรหา กำหนดวิธีการสรรหาให้ประชาคมภายในมหาวิทยาลัยเสนอชื่อ คณะกรรมการสรรหาเอารายชื่อมาเลือกไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อเชิญท่านเหล่านั้นมาพูดคุยว่าหากได้รับเลือกจะทำงานอย่างไร และเชิญตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาให้ความเห็น เพื่อประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหา

ทั้งหมดนั้นในความเป็นจริงเป็นกระบวนการทางการเมืองในมหาวิทยาลัย มีการหาเสียง มีการรวมกลุ่ม ซึ่งหากคิดให้ดีๆ จะเห็นว่า เป็นกระบวนการเพื่อผลประโยชน์ของประชาคมมหาวิทยาลัย มากกว่าเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัย ซึ่งในปัจจุบันต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (disruptive change)

ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นผลของขบวนการคนหนุ่มสาวยุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ และต้องการให้การบริหารมหาวิทยาลัย “เป็นประชาธิปไตย” โดยคิดว่าจะหลบจากอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม สู่อำนาจของฝ่ายก้าวหน้าได้

บัดนี้ เวลาผ่านมากว่า ๔ ทศวรรษ โลกมันเปลี่ยนมากจนแนวทางที่สี่สิบปีก่อนถือว่าก้าวหน้า กลายเป็นอนุรักษ์นิยมในสายตาของผม (ซึ่งอาจจะตาเอียงก็ได้)


ผมมองว่า หากไม่เปลี่ยนแปลงวิธีสรรหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้เปิดโอกาสเอาคนเก่งจากนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งจากนอกประเทศ มาเป็นผู้นำ มหาวิทยาลัยไทยจะไม่มีวันพัฒนาเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก” อย่างแท้จริงได้




วิจารณ์ พานิช

๑๔ ม.ค. ๖๐


คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/622367

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 31 มกราคม 2017 เวลา 13:54 น.