เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย


เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ เรื่องพลังภาคเอกชนกับการปฏิรูปการเรียนรู้ เชิญ ๓ โรงเรียนตัวอย่างมานำเสนอเรื่องราวความสำเร็จ คือโรงเรียนบ้านจันทร์ โรงเรียนบ้านตะเคียนราม และโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งาม


สองโรงเรียนแรก ได้เล่าไว้แล้วในบันทึกสองตอนที่ผ่านมา ส่วนโรงเรียนวัดไผ่เกาะโพธิ์งามเล่าไว้ก่อนแล้ว ในบันทึกชื่อ พบโรงเรียนดีในชนบท เอาเข้าจริงสามโรงเรียนที่มานำเสนอในวันนั้น เป็น “โรงเรียนดีในชนบท” ทั้งสิ้น เป็นกำลังใจว่า เราสามารถร่วมกันสร้างโรงเรียนดีเต็มแผ่นดินได้ ไม่ใช่เรื่องยากในเชิงเทคนิค


เรื่องยากอยู่ที่คำพูดของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ตอนที่ท่านถอดหัวโขนออกแล้ว ที่ท่านพูดตอนสุดท้าย ว่าขอพูดเป็นส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะหัวหน้าภาคธุรกิจในโครงการประชารัฐการศึกษา ว่าปัญหาอยู่ที่ระบบผูกขาด ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน โดยผู้ผูกขาดบริการการศึกษาคือภาครัฐ มีผลทำให้คุณภาพการศึกาาไทยตกต่ำอย่างที่เห็น เนื่องจากขาดการแข่งขัน


ก่อนถอดหัวโขนการศึกษาประชารัฐ คุณศุภชัยบอกว่า โครงการประชารัฐการศึกษาคือการสร้างระบบนิเวศใหม่ทางการศึกษา ผ่านการสร้างกองทุนการศึกษา ระบบนิเวศใหม่นั้น ผมตีความว่าหมายถึงสภาพที่ระบบไม่มีการผูกขาด มีการแข่งขัน เอาระบบผูกขาดออกไป


ตีความได้ว่า เรามีภาพใหญ่ของระบบการศึกษาที่ผิดพลาด หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ จะไม่มีวันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้คุณภาพพลเมืองไทยในอนาคตสูงขึ้น เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ คือเป้าหมายประเทศไทย ๔.๐ ของรัฐบาล จะไม่มีวันบรรลุได้


ภาพใหญ่ที่ผิดพลาดของบ้านเมืองเป็นเรื่องเข้าใจยาก ดังกรณีเยอรมันสมัยนาซี คนทั้งเมืองเห็นดีเห็นงามตามฮิตเลอร์นะครับ จนเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สองแล้วนั่นแหละคนเยอรมันจึงได้สติ วันก่อนผมแนะนำหนังสือเรื่องเมืองขวางน้ำ ก็เป็นภาพใหญ่ที่อยู่ในลักษณะเส้นผมบังภูเขาเช่นเดียวกัน วันนี้มาเจอระบบการศึกษาอีก


วิธีแก้ปัญหามิจฉาทิฐิเชิงระบบ ต้องใช้ การวิจัยระบบ (Systems Research) มาช่วย วงการสุขภาพโชคดีที่เรามี สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ทำวิจัยสร้างนวัตกรรมเชิงระบบให้แก่ระบบสุขภาพไทยมากมาย เลื่องลือไปทั่วโลก แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ระบบการศึกษาไทยจึงขาด evidence ภาพใหญ่ สำหรับนำมาใช้เปลี่ยนแปลงระบบที่ไม่เหมาะสม ระบบการศึกษาไทยจึงไม่ตั้งอยู่บน evidence-based systems development


ผมเข้าใจว่าในช่วงเวลาประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยถูกผลักดันโดย การเมืองเชิงผลประโยชน์ของกลุ่มคน ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก และจนปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไข การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยภาพใหญ่หากไม่จับเรื่องนี้ ก็ยากที่จะบรรลุประเทศไทย ๔.๐ ได้


ศ. นพ. ประเวศ วะสี ได้ใช้เวลา ๒๐ นาที ปาฐกถาเรื่อง พลังภาคเอกชนกับการปฏิรูปการเรียนรู้ ดู ppt ได้ ที่นี่ ท่านเสนอให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปแบบการเรียน จากเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็น เอาชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง ซึ่งกรณีตัวอย่าง ๓ โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ใช้แนวทางใหม่ที่ท่านเสนอทั้งสิ้น




วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๖๐

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/622825

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2017 เวลา 16:01 น.