ชีวิตที่พอเพียง 2955b. โรงงานผลิตปัญญา : 1. สะท้อนอดีตสู่อนาคต.

วันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

  ในยุคมหาวิทยาลัย ๔.๐ วิชาการต้องเน้น “วิชาการประยุกต์” (implementation scholarship) ๗๐% “วิชาการบริสุทธิ์” (discovery scholarship) เพียง ๓๐% และ “วิชาการบริสุทธิ์” ก็ต้องมีเป้าเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่วิชาการเพื่อวิชาการ.

  


ชีวิตที่พอเพียง  2955b. โรงงานผลิตปัญญา : 1. สะท้อนอดีตสู่อนาคต

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา นี้ ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    อ่านแล้วอดหวนกลับมาคิดถึง สภาพของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันไม่ได้    

ที่จริงผมเพิ่งอ่านจบบทที่ ๑ เท่านั้น   โดยหนังสือเล่มนี้มี ๗ บท     บทที่ ๑ เล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของ การก่อเกิดมหาวิทยาลัยในยุโรปตอนเริ่มต้นสหัสวรรษที่ ๒  หรือต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๒  จนเริ่มมีรูปแบบ การจัดการชัดเจนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕   เห็นได้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับหลายส่วน ของสังคม    กล่าวง่ายๆ ว่า มหาวิทยาลัยต้องมีหุ้นส่วนกิจการ    ในหนังสือบทที่ ๑ กล่าวถึงร้านหนังสือ ที่ตั้งอยู่รอบมหาวิทยาลัย 

อ่านแล้วสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีรูปแบบตายตัว     มีการปรับตัวไปตามสภาพและความต้องการ ของสังคม    รวมทั้งมีเรื่องราวทั้งด้านบวกและด้านลบของมหาวิทยาลัยยุคโบราณ (กว่าห้าร้อยปีก่อน) สารพัดแบบ   

แต่เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยไม่เคยเปลี่ยน  คือผลิตคนคุณภาพสูงออกสู่สังคม    ออกไปใช้ชีวิต ทำประโยชน์แก่สังคม    โดยที่เป้าหมายในรายละเอียด และวิธีการ อาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย   

ทำให้ผมหวนกลับมา reflect ถึงสภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน ที่ต้องการพลังความสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองสู่ภพภูมิใหม่ที่เรียกว่า ประเทศไทย ๔.๐  ที่มีความสามารถพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม    ว่าเป็นโอกาสทองของมหาวิทยาลัย ในการทำปรโยชน์แก่บ้านเมือง ไปพร้อมๆ กันกับการเปลี่ยนโฉม (reform) ตนเอง  ให้เป็น มหาวิทยาลัย ๔.๐ 

ในอดีต ๑ ศตวรรษแรกของมหาวิทยาลัยไทย เน้นความรู้สากล    นำมาใช้ประโยชน์สร้างความทันสมัย และความสามารถในการแข่งขัน    ผ่านสภาพ ประเทศไทย ๑.๐ (เกษตรกรรม), ๒.๐ (อุตสาหกรรมเบา), และ ๓.๐ (อุตสาหกรรมหนัก)    ก็ยกระดับเศรษฐกิจขึ้นมาโดยลำดับ    แล้วก็รู้ตัวว่าประเทศติดหล่มรายได้ปานกลางเสียแล้ว     ไม่สามารถยกระดับรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๕ - ๗.๕###/span#<  อย่างที่เคยทำได้ช่วงสามสิบปีก่อนวิกฤติ เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ได้   ในสิบปีหลังอัตราเพิ่มของจีดีพี อยู่ที่ประมาณร้อยละ ๓ ต่อปีเท่านั้น ()   

รัฐบาลปัจจุบันจัดทำยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี    เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ()     แรงยก ที่สำคัญคือ นวัตกรรม    และมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งพลังแหล่งหนึ่ง    ดังจะเห็นว่าท่านนายกลุงตู่เพียรไปเยี่ยม มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเพื่อชักชวนทำงานนี้ให้แก่บ้านเมือง   

ผมจึงมองว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของมหาวิทยาลัย    ที่หุ้นส่วนเด่นชัด คือ “ประชารัฐ” ที่ต้องการสร้าง นวัตกรรมในกิจการของตน    เพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ   

ผมมองว่า มหาวิทยาลัยไทยจะ “ขุดทอง” ได้ ต้องใช้ยุทธศาสตร์ engagement กับภาค real sector    การทำภารกิจย่อยทุกอย่าง ต้องทำอย่างบูรณาการร่วมหลายภารกิจ     ทำกับหุ้นส่วน ภายใต้อุดมการณ์ engagement ()  ร่วมคิดร่วมตั้งเป้า    ร่วมลงทุนและร่วมทำร่วมฟันฝ่า    ลงท้ายด้วยการร่วมรับผล เกิดทั้งผลลัพธ์ทางวิชาการ และทั้งผลลัพธ์ในการประกอบการ 

ในยุคมหาวิทยาลัย ๔.๐  วิชาการต้องเน้น “วิชาการประยุกต์” (implementation scholarship) ๗๐%   “วิชาการบริสุทธิ์” (discovery scholarship) เพียง ๓๐%     และ “วิชาการบริสุทธิ์” ก็ต้องมีเป้าเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบ้านเมือง  ไม่ใช่วิชาการเพื่อวิชาการ

เท่ากับว่า ในยุคใหม่ มหาวิทยาลัยของเราจะต้องเน้นความรู้ในการปฏิบัติในบริบทของเราเอง เชื่อมกับความรู้สากล    ใช้การทำงานสร้างนวัตกรรมในกิจการของบ้านเมืองเป็นแหล่งทำงานสร้างสรรค์วิชาการ แบบ “วิชาการประยุกต์”   การวิจัยจะเน้นแบบ translational research

จะต้องมีการปรับโครงสร้าง  และกฎกติกา เพื่อหนุนการทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นี้

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มิ.ย. ๖๐

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/630878


แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 14 กรกฏาคม 2017 เวลา 17:44 น.