ชีวิตที่พอเพียง : 2992 การพัฒนาเยาวชนแบบไม่กลวง : ฝึกเป็น Knowledge Worker

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เช้าวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผมยังคง “เคี้ยวเอื้อง” เรื่องราวที่ได้จากการประชุม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความรู้ เรื่องการพัฒนาพลเมืองเยาวชน” ของมูลนิธิ สยามกัมมาจลเมื่อวันที่ ๑๘   และเนื่องจากเวที นั้นเป็นเวที โค้ชผู้ทำหน้าที่โค้ช แก่เยาวชน    และคุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ แห่งสงขลาฟอรั่มปรารภเรื่อง คนทำงานพัฒนาเยาวชน จะต้อง “ไม่กลวง”   เพราะสังเกตเห็นเยาวชนบางคนที่มาร่วมกิจกรรม พูดคำโตๆ แบบไม่มีสาระอยู่ข้างใน


ผมสังเกตสภาพดังกล่าวเรื่อยมา ว่าการพูดคำโตแบบกลวงนี้แพร่หลายอยู่ในบางวงการ ในคนบางกลุ่ม    ผมเองระมัดระวังเรื่อยมา ไม่ให้ติดกับดักความกลวงของคนเหล่านั้น    คือไม่หลงไปใช้งานคนที่กลวง


เนื่องจากเวทีดังกล่าวเป็นเวทีโค้ชพี่เลี้ยงเยาวชน    ผมจึงมีความเห็นว่า พี่เลี้ยงต้องตั้งคำถามกับตนเอง และกับเยาวชนในกลุ่มอยู่เสมอว่า กิจกรรมในขณะนั้นต้องการใช้ความรู้อะไร เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพสูง    และจะหาความรู้นั้นได้จากที่ไหน    หามาได้แล้วจะตรวจสอบความถูกต้องอย่างไร   นำมาชี้ชวนเยาวชนให้ค้นคว้า หาความรู้มาใช้ทำกิจกรรม    และเมื่อใช้แล้วก็มีการ AAR ตรวจสอบความหมายของความรู้นั้นจากมุมของ การปฏิบัติ   ซึ่งจะมีผลให้ค้นพบความรู้ใหม่จากการปฏิบัติ 


ผมสังเกตจากเอกสารประกอบการประชุม และการนำเสนอในที่ประชุม ว่าพี่เลี้ยงยังไม่ตระหนักว่า พี่เลี้ยงต้องทำงานแบบ knowledge worker    ไม่ใช่ทำตามความรู้สึก   


ตัวอย่างคือ โครงการศึกษาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและทะเล กลุ่มเด็กรักหาดสวนกง  พื้นที่ชุมชนบ้านสวนกง  อ. จะนะ  จ. สงขลา    ที่เยาวชนที่มาเข้าโครงการยังเป็นเด็กหญิง คือยังอายุน้อยมาก    แต่มาเข้าร่วมโครงการเพราะอยากร่วมรณรงค์คัดค้านท่าเรือสงขลาแห่งที่ ๒  และคัดค้านรถไฟรางคู่   เนื่องจากบิดาอยู่ในกลุ่มคัดค้านทั้งสองโครงการดังกล่าว 

เมื่ออ่านเอกสารและฟังการนำเสนอเรื่องนี้ ผมก็เกิดคำถามว่า เราควรฝึกให้เยาวชนมอง “ความจริงหลายมุม” ของเรื่องราวหรือกิจกรรมต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือไม่    หากใช่ เยาวชนในโครงการควรค้นความรู้เรื่องข้อดีข้อเสียของโครงการทั้งสอง ในบริบทของชุมชนของตน    และร่วมกันประมวลและประเมินความรู้ที่ค้นหาได้    หากความรู้ส่วนของชุมชนยังไม่เพียงพอก็ศึกษาวิธีการ เก็บข้อมูลที่ต้องการ ให้มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ    สำหรับนำมาใช้ออกแบบกิจกรรม    ก็จะเป็นการทำ กิจกรรมแบบ knowledge worker


หัวใจคือ การมี content knowledge สำหรับใช้ทำกิจกรรม และการเรียนรู้ของเยาวชน แะของพี่เลี้ยง     ใช้ความรู้ทำกิจกรรมได้ผลอย่างไรแล้ว ทั้งความรู้เชิงกระบวนการ และความรู้เชิงสาระ จะขยายตัวขึ้น    ทั้งเยาวชนและพี่เลี้ยงต้องสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลง (transformation) ทั้งสองด้านนี้ได้    เยาวชนก็จะได้รับการพัฒนาแบบไม่กลวง


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 13:24 น.