การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

วันพฤหัสบดีที่ 06 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

หนังสือเล่มนี้มีเพียง ๖ บท  และผมได้ตีความเขียนเองจบบทที่ ๖ แล้ว  แต่หลังจากนั้นยังมีบทตาม ชื่อ Afterword  เขียนโดยผู้เขียนทั้งสอง คือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc

การศึกษามีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนคนรุ่นหลังให้มีพัฒนาการเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ทั้งด้านปัญญา (intellectual), อารมณ์ (emotional), สังคม (social),  และจิตวิญญาณ (spiritual)  ซึ่งหมายความว่า ต้องเป็นการเรียนรู้ในมิติเชิงศีลธรรม และคุณค่า (เช่น มีเมตตากรุณา ความยุติธรรมในสังคม การแสวงหาความจริง) ด้วย  ผลลัพธ์เชิงบูรณาการเช่นนี้ ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการเรียนรู้แบบแยกส่วน  ต้องเรียนรู้แบบบูรณาการ แบบที่งอกงามมาจากข้างในของแต่ละบุคคล

การเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ต้องทั้งเรียนเดี่ยว และเรียนเป็นทีม  ทั้งเรียนโดยลงมือทำ และโดยการทบทวนไตร่ตรองสะท้อนความคิด

เป็นการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ให้คุณค่าต่อความเป็นมนุษย์  และส่งเสริมให้ความเป็นมนุษย์งอกงามออกมาจากภายในตน

อุดมศึกษาต้องเป็นอุดมศึกษาที่มีวิญญาณของความเป็นมนุษย์  ไม่ใช่อุดมศึกษาของความรู้ที่เป็นกลไก แห้งแล้งไร้น้ำใจ ไร้มิติเชิงอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ

ผมตีความว่า  การเรียนให้รู้วิชา ไม่เพียงพอ  ต้องเรียนให้ความเป็นเทพในร่างมนุษย์งอกงาม  โดยในกระบวนการเรียนรู้ ต้องบูรณาการจิตตปัญญาศึกษา เข้าไปด้วย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538181