ขบวนการ Holistic Education

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ พ.ค. ๕๖ มีการประชุม Roundtable Meeting on “Asia-Pacific Network for Holistic Education” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  โดยมีเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกันระหว่าง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  กับสถาบันอาศรมศิลป์   คนเข้าร่วมประชุมประมาณ ๔๐ คน  มาจากแคนาดา เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และไทย

ดาราใหญ่ที่ชูโรง และเป็นดาราระดับโลกคือ ศาสตราจารย์ John P. Miller ผู้เขียนหนังสือ Whole Child Education (2010),The Holistic Curriculum (2nd Ed., 2008) และ Education and the Soul (1999)

เป้าหมายเพื่อทำความชัดเจน และขยายผลของ “การศึกษาองค์รวม”  และสร้างกลไกความร่วมมือกันใน เอเซีย - แปซิฟิก

นอกวงประชุม รศ. นพ. ชัชวาล ศิลปกิจ ผอ. ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ถามผมว่า ควรขับเคลื่อนอย่างไร  ผมเสนอว่า ผมอยากเห็นกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนทั่วประเทศไทย  อย่างที่โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มาเสนอในวันที่ ๒๓ พ.ค. ๕๖

คือผมมองว่า ระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น  จะพาคนไทยไปสู่ทางตัน หรือกล่าวแรงๆ ก็พาลงเหว เป็นมิจฉาทิฐิ  คือเรียนเพื่อความโลภ เพื่อเห็นแก่ตัว มากเกินไป

นอกจากนั้น การศึกษาปัจจุบัน ยังเน้นเรียนด้านเดียว คือวิชา   เป็นการเรียนเพื่อสอบ  ทำให้เรียนรู้ไม่ครบด้าน ไม่ holistic หรือ องค์รวม  ผมมองว่า ต้องรวมเอาการฝึกฝนด้าน อารมณ์ สังคม จิตใจ (จิตวิญญาณ) และด้านสุขภาวะทางกาย เข้าไปเป็นเป้าหมายของการศึกษา และมีการวัดผลด้วย

ผมเสนอต่อ ผอ. ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ให้ศูนย์ทำงานใหญ่  คือเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษากระแสหลัก  ถึงขนาดเปลี่ยน “ศึกษาศาสตร์” ของไทย

ต่อ รศ. ประภาภัทร นิยม ผมเสนอให้หาทางทำวิจัย เพื่อสร้างวิธีประเมิน “จิตตปัญญา” ในเด็กอายุต่างๆ  สำหรับ “ติดอาวุธ” ให้ครูทุกคน (ย้ำคำว่าทุกคน)

ที่จริงการติดอาวุธการประเมิน (formative assessment) ให้แก่ครูนี้ มีความสำคัญมาก  และควรติดอาวุธการประเมินทุกด้าน ทั้งด้านพัฒนาการทางปัญญา  อารมณ์  สังคม  จิตวิญญาณ  และร่างกาย  การศึกษาไทยจะบรรลุเป้าหมายสูงสุด คุณภาพสูงสุดได้ เมื่อเราเลิกการประเมินนักเรียนรายคน ในระดับชาติลงไปได้  และ empower ครูและโรงเรียนให้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือ

นี่คือ ขบวนการ Holistic Education ที่ผมคิด

เขามีการประชุมในวันที่ ๒๔ พ.ค. ด้วย  แต่ผมไม่ได้ไปร่วม เพราะติดการบ้านหลายอย่าง  จึงมีโอกาสเข้าเว็บ เข้าไปอ่านตัวอย่างหนังสือที่ ศ. จอห์น มิลเล่อร์ เขียน  อ่านแล้วติดใจ โดยเฉพาะThe Holistic Curriculum (2nd Ed., 2008) ทำให้ผมเสียเงินซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านใน Kindle Paperwhite ตัวใหม่ที่เพิ่งฝากหมอสมศักดิ์ซื้อมา  ผมได้หนังสือสำหรับนำมาเขียน บล็อก ด้านการศึกษาอีกชุดหนึ่งแล้ว  เข้าคู่กับชุด การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม ที่กำลังลง บล็อก ทุกๆ วันพุธ ในขณะนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540104