ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๖๑. ข้อสังเกตจากการประชุม การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทย

วันอังคารที่ 30 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เช้าวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง การศึกษาสำหรับอนาคตประเทศไทย ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ล

ผมไปก่อนเวลา ๑ ชั่วโมง  ได้ไปเห็นบรรยากาศเบื้องหลังการประชุม  และเดาว่าการประชุมใหญ่ๆ ระดับชาติของราชการในปัจจุบันคงจะคล้ายๆ กัน  คือจัดโดย organizer  บรรยากาศตามความรู้สึกของผม (ซึ่งอาจต่างจากคนอื่น) คือเน้นความอลังการ์หรูหรา  แต่อ่อนด้านสาระ  สมัยผมหนุ่มๆ ผมจะบอกว่า สวยแต่รูปจูบไม่หอม  ซึ่งเป็นคำที่แม่พูดบ่อยๆ

ไหนๆ ก็เขียนบันทึกแบบแหกคอกจารีตการเขียน บล็อก ที่เน้นเชิงบวกแล้ว  ก็ขอบันทึกความรำคาญเรื่องนักถ่ายรูปตนเองในการประชุม  ผมสังเกตว่าพวกครูชอบทำอย่างนี้มากที่สุด  มีคนบอกว่าเพื่อเอาไปเป็นหลักฐานการเข้าร่วมประชุม ลงใน portfolio  ผมมีความเห็นว่า มันทำให้ครูไม่สนใจสาระของการประชุม  หันไปสนใจแต่มุมถ่ายรูป  ไม่ทราบว่าอะไรในวงการศึกษาไทย ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ในหมู่ครู

ที่น่าแปลกใจคืองานนี้จัดสถานที่โอ่อ่าอลังการ์มาก  แต่จอสำหรับฉาย PowerPoint ประกอบการบรรยายเล็ก และเครื่องฉายคุณภาพต่ำ  มองไม่ชัด  คนจัดเน้นสร้างความโอ่อ่า ไม่สนใจเรื่องที่จะช่วยให้การประชุมประสบผลสำเร็จเชิงสาระ

ผมนั่งสังเกตครู่หนึ่งก็เห็นว่า ที่จอมันไม่ชัดเพราะมันเป็นจอผ้าโปร่ง ไม่ใช่จอสำหรับฉาย LCD Projector  เมื่อมันโปร่ง แสงจากด้านหลังก็ทำให้ไม่ชัด  แถมเขายังเอาไฟ สป็อตไล้ท์ ฉายมาทางจอและคนฟังเสียอีก  แสดงให้เห็นว่า organizer ไม่รอบคอบ  และหน่วยราชการเจ้าของงานก็ตรวจงานไม่เป็น

เพราะ organizer ไม่เป็นงาน  ตอนประชุมในห้องใหญ่ จึงจัดเวทีให้ผู้พูดนั่งบังจอ  มาแก้เอาทีหลัง

งานจึงเด่นเฉพาะด้านโอ่อ่า  แต่ไม่เอื้อต่อการเก็บเกี่ยวสาระ

บ่นมาเสียยาว  คนอื่นเขาคงไม่รู้สึกอย่างนี้  คงเพราะผมตั้งใจไปเก็บเกี่ยวความรู้เรื่อง การศึกษาเพื่ออนาคตประเทศไทย มากเกินไป

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้บริหารระดับสูงทางการศึกษาที่เข้าร่วม  ไม่เห็น ซีอีโอ ของหน่วยงานอีก ๔ แท่งของกระทรวงศึกษาฯ  เนื่องจากการประชุมนี้จัดโดยสภาการศึกษา  หน่วยงานแท่งอื่นใน ๕ แท่งจึงไม่เกี่ยว  สะท้อนภาพความไม่ร่วมมือกันของหน่วยงานทางการศึกษา  ทั้งๆ ที่สาระและเป้าหมายของการประชุมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบ้านเมือง เป็นคำตอบหนึ่งว่าทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงต่ำเช่นนี้

การประชุมนี้มี low quality audiences มาก  สังเกตจากการพูดโทรศัพท์เสียงดัง และการคุยกันในห้องประชุม ระหว่างการประชุม รบกวนผู้อื่นที่เขาตั้งใจฟัง

ผมไปเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของการประชุมนี้ จากการประชุมห้องย่อยภาคบ่าย  ว่าเป็นการประชุมเพื่อนำไปสู่การประเมินระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ  ที่รัฐบาลไทยขอให้ UNESCO และ OECD เข้ามาศึกษาหรือวิจัยระบบการศึกษาไทย และเสนอแนะการดำเรินการปรับปรุง  เท่ากับรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า ตนจนปัญญาที่จะแก้ปัญหาที่หมักหมมและซับซ้อนนี้  ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบ

เท่ากับยอมรับว่า เราไม่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยระบบการศึกษา  ต้องขอความช่วยเหลือ (เข้าใจว่าเป็นการว่าจ้าง) UNESCO และ OECD  ต่างจากระบบสุขภาพที่ผมคุ้นเคย เรามีหน่วยงานที่ทำวิจัยระบบสุขภาพเป็นเครือข่ายนับสิบองค์กร  โดยมี สวรส. เป็นแม่ข่าย

ผมหวังว่า หลังจากการวิจัยชิ้นนี้ จะมีนักการศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง ได้รับการพัฒนาศักยภาพของการวิจัยระบบการศึกษา  สำหรับทำงานวิจัยระบบการศึกษาเอง อย่างต่อเนื่อง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/543991

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 30 กรกฏาคม 2013 เวลา 09:57 น.