ทำเพื่อคะแนน PISA หรือใช้ PISA เป็นกระจก

วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง “การศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๕๖  น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเรื่องผลการทดสอบ PISA ว่าเป็นเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเรา

ผมเดาว่า น่าจะมีคนในวงการศึกษา และคนทั่วๆไป  คิดว่าควรใช้ผลการทดสอบ PISA เป็นตัววัดคุณภาพของการศึกษา  ซึ่งผมคิดว่า ไม่ใช่  เราต้องคิดให้ไกลกว่านั้น  หรือกล่าวใหม่ว่า เป้าหมายของการศึกษาไทย ต้องให้ไกลกว่าผลการทดสอบ PISA

การทดสอบ PISA จัดขึ้นสำหรับเป็นเครื่องเปรียบเทียบ (benchmarking) คุณภาพของการศึกษาระหว่างประเทศ   โดยทดสอบเด็กอายุ ๑๕ ปี  วัดทักษะด้านการอ่าน, ด้านคณิตศาสตร์, และด้านวิทยาศาสตร์

แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสมัยใหม่ ที่เรียกว่า 21st Century Learning นั้น  ต้องการให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ชุดหนึ่งที่ซับซ้อนมาก  ที่เรียกว่า 21st Century Skills คือมากกว่า reading skills, mathematical skills, และ scientific skills มาก

ประเทศไทย ต้องตั้งเป้า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ครบด้าน  ไม่ใช่เพียงกวดขันด้าน การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผลการสอบ PISA ได้คะแนน/ตำแหน่ง สูงขึ้น เท่านั้น  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตื้นเขิน  ไม่ก่อผลดีอย่างแท้จริงต่อสังคมไทยในระยะยาว  ในด้านคุณภาพคน

และต้องไม่ลืมว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง ต้องเรียนทั้งด้านนอกและด้านใน  คือไม่ใช่เพียงเรียนให้รู้จักโลกภายนอก รู้จักสังคม รู้จักคนอื่น  ต้องเรียนให้รู้จักตนเองด้วย  ดังบันทึกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/544289

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๒. การเรียนรู้บูรณาการคืออะไร

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช

ในบทที่ ๑ ของหนังสือ ชื่อบทคือ Toward a Philosophy of Integrative Education ผู้เขียนคือ Parker J. Palmer  อธิบายโต้แย้งคำกล่าวหาว่าการเรียนรู้บูรณาการ (เช่น service learning, action research, small-group process, learning community) ทำให้เรียนได้ไม่ลึกซึ้ง  โดยอธิบายปรัชญาของการเรียนรู้ที่ลึก  ว่าเป็นความเข้าใจว่า “ความรู้” ทุกอย่างเป็นสมมติทั้งสิ้น  ภาษาอังกฤษเรียกว่า relational คือขึ้นอยู่กับตัวผู้สังเกตหรือรับรู้

ผมขอเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้บูรณาการที่ดีที่สุดคือ PBL (Project-Based Learning)

เขาอธิบายเรื่องความรู้ฝังลึกในตัวคน (Personal / Tacit Knowledge) ที่เสนอไว้โดย Michael Polanyi เมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว  กับความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ที่เราเข้าใจกันดีแล้วในสังคมไทย

ดังนั้น การเรียนรู้บูรณาการหลายศาสตร์ ที่มาบรรจบกันที่การนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในสถานการณ์จริง จึงเป็นการเรียนรู้บูรณาการที่เราไม่สงสัยกันอีกต่อไป  ผมคิดว่า เราไม่ควรเสียเวลาถกเถียงกันในภาคปฏิบัติ ที่ชัดเจนแล้วว่า การเรียนรู้ส่วนใหญ่ต้องเรียนโดยการลงมือทำ (Learning by Doing)

และจากมุมของการจัดการความรู้  การเรียนรู้แบบบูรณาการต้องบูรณาการระหว่างความรู้ฝังลึก/ความรู้ปฏิบัติ และ ความรู้แจ้งชัด/ความรู้ทฤษฎีด้วย  นี่หนังสือไม่ได้ว่า ผมว่าเอง

ผมตีความสาระเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้ ที่ Palmer เขียนแบบนักสังคมศาสตร์และนักปรัชญา  ให้ง่ายขึ้นว่า  การเรียนรู้คือการฝึกการรับรู้และการตีความสิ่งต่างๆ รอบตัว (และไกลตัว)  โดยไม่จำเป็นต้องตีความเหมือนกับที่คนอื่นตีความไว้แล้ว  โดยที่เป็นที่เข้าใจกันว่า  การตีความทุกแบบเป็นสมมติ (relational) ทั้งสิ้น

ผมชอบที่ผู้เขียนบอกว่า การเรียนการสอนต้องไม่ใช่กระบวนการแบบกลไก  ในลักษณะถ่ายน้ำใส่ถัง  น้ำคือความรู้  ถังคือสมอง  ถ้าใช้กระบวนทัศน์ที่ผิดเช่นนั้น  ครูจะทำหน้าที่ผิด คือเน้นถ่ายทอดความรู้  การเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ที่ นศ. / นร. ได้รับจากครู เพื่อนๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

และผมยิ่งชอบมาก ที่ผู้เขียนบอกว่า กระบวนการเรียนรู้ต้อง “เอาจริงเอาจัง”  ท่านใช้คำว่า rigorous  และยกตัวอย่างความเอาจริงเอาจังว่า แสดงให้เห็นโดยพฤติกรรมของ นศ.  ที่ลุกขึ้นบอกครูว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับครูในประเด็น...  หรือไม่เห็นด้วยกับเพื่อน ที่กล่าวว่า....  หรือลุกขึ้นสารภาพว่า ที่เรียนมา ๒ สัปดาห์นั้น ตนไม่รู้ว่าพูดกันเรื่องอะไร

การที่ นศ. จะกล่าวคำข้างบนได้ นศ. ต้องคิด  และต้องหาวิธีพูดให้สุภาพ  เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง

มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนบอกว่า การเรียนรู้แบบบูรณาการถูกตำหนิ  ว่าเป็นการเรียนรู้ที่มั่ว (เขาใช้คำว่า messy  อยู่ตอนต้นบทที่ ๒)  ซึ่งเป็นความจริงหากมองจากมุมที่เราคุ้นเคยกับการเรียนทีละรายวิชา  แต่หากมองตัวอย่างจริงในบ้านเรา ที่กลุ่มโรงเรียนกระแสทางเลือก เช่นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นต้น  จะเห็นว่าผลการเรียนรู้ของนักเรียนดีกว่า  ที่สำคัญคือเป็นคนเต็มคนกว่า  แต่ครูต้องเปลี่ยนพฤติกรรม จากสอนไปเป็น “คุณอำนวย” หรือโค้ช

ในที่สุดแล้ว การเรียนรู้เป็นวิถีชีวิต เป็นกระบวนการเพื่อการดำรงชีวิต  ซึ่งในยุคปัจจุบันต้องเน้นการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตร่วมกัน  ทำให้มองว่า การเรียนรู้มีมิติด้านคุณธรรม (หัวใจ) อยู่ด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/533828

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม 2013 เวลา 10:18 น.