ศาสตราใหม่สำหรับครูเพื่อศิษย์ ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑

วันศุกร์ที่ 02 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ครูเพื่อศิษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิง เพื่อให้เป็น "ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑" ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๐ หรือศตวรรษที่ ๑๙ ที่เตรียมคนออกไปทำงานในสายพานการผลิตในยุคอุตสาหกรรม   การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเตรียมคนออกไปเป็น knowledge worker และเป็น learning person   ไม่ว่าจะประกอบสัมมาชีพใด มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็น learning person และเป็น knowledge worker   ชาวนาหรือเกษตรกร ก็ต้องเป็น learning person และเป็น knowledge worker    ดังนั้น ทักษะสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ ๒๑ จึงเป็นทักษะของการเรียนรู้ หรือ learning skills

ที่การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะต้องเตรียมคนไปเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง และพลิกผัน คาดไม่ถึง   คนยุคใหม่จึงต้องมีทักษะสูงในการเรียนรู้และปรับตัว

ครูเพื่อศิษย์จึงต้องพัฒนาตนเองให้มี learning skills  และในขณะเดียวกันมีทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งไม่เหมือนการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๐ หรือ ๑๙

ทักษะของคนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C


3R ได้แก่ Reading, 'Riting และ 'Rithmetics
7C ได้แก่ Critical thinking & problem solving
Creativity & innovation
Cross-cultural understanding
Collaboration, teamwork & leadership
Communications, information & media literacy
Computing & ICT literacy
Career & learning skills


การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ คือการเรียนรู้ 3R x 7C

ครูเพื่อศิษย์เอง ต้องเรียนรู้ 3R x 7C   เรียนรู้ตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง   ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และเพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง

ดู 21st Century Learning Framework ได้ที่นี่

ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการเป็นโค้ช และเป็น facilitator ในการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) ของศิษย์   ผมจะเขียนรายละเอียดเรื่อง PBL ในบันทึกต่อๆ ไป

ย้ำว่าครูต้องเลิกเป็น “ผู้สอน” ผันตัวเองมาเป็นโค้ช หรือ facilitator ของการเรียนของศิษย์   ที่ส่วนใหญ่เรียนแบบ PBL  คือโรงเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเลิกเน้นสอน หันมาเน้นเรียน   เน้นทั้งการเรียนของศิษย์ และของครู

ครูจะต้องปรับตัวมาก  ซึ่งเป็นเรื่องยาก  จึงต้องมีตัวช่วย คือ PLC (Professional Learning Community)   ซึ่งก็คือการรวมตัวกันของครูประจำการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสกการณ์การทำหน้าที่ครูนั่นเอง   และ มสส. กำลังจะจัด PLC ไทย เรียกว่า ชร.คศ. (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์)   หรือในภาษา KM เรียกว่า CoP (Community of Practice) ของครูเพื่อศิษย์นั่นเอง

ชร.คศ. คือตัวช่วยการเรียนรู้ของครู   ให้การปรับตัวของครู เปลี่ยนชุดความรู้และชุดทักษะของครู ไม่เป็นเรื่องยาก แต่จะสนุกเสียด้วยซ้ำ

เรื่อง PLC และ ชร.คศ. นี้ ผมจะเขียนโดยพิสดารในบันทึกต่อๆ ไป

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ ธ.ค. ๕๓
คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/415058