อีกก้าวหนึ่ง ของการกลับทางห้องเรียน

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

นิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ มีรายงานพิเศษเรื่อง Learning in the Digital Age ซึ่งผมมองว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของการกลับทางห้องเรียน โดยเขาเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เน้นการใช้ MOOC (Massive Open Online Course) ในการเรียน และมีระบบ ซอฟท์แวร์ ช่วยให้ครูและผู้บริหารจัดการเรียนรู้แบบใหม่ และจัดการเรียนรู้แก่เด็กเป็นรายคนได้ เด็กแต่ละคน เลือกเรียนได้ตามความเร็วที่เหมาะแก่ตนเอง

อ่านส่วนที่เขาให้อ่านฟรี ได้ ที่นี่

เป็นสัญญาณ ว่ายุคการเรียนรู้ผ่านระบบ ออนไลน์ กำลังจะเข้ายึดครองห้องเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษา ของประเทศต่างๆ ซึ่งหมายความว่า ระบบการศึกษาของประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญทั้งโอกาส และความท้าทายใหญ่ 
มองในแง่ของโอกาส นี่คือโอกาสปฏิรูปการเรียนรู้/การศึกษา ในศตวรรษที่ ๒๑ ของไทย แต่จะต้องเข้าใจว่า ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ต้องฝึกทักษะใหม่ให้แก่ครูประจำการ ต้องจัดหลักสูตรผลิตครูแบบใหม่ เพื่อให้มีกระบวนทัศน์ใหม่ และทักษะการเป็นครูแบบใหม่ 
มองในแง่ความท้าทาย (ปัญหา/หายนะ) นี่คือเส้นทางสู่ความเป็นประเทศราชทางเทคโนโลยี และการเรียนรู้ และเป็นเส้นทางสู่คอรัปชั่นครั้งมโหฬาร คล้ายๆ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โครงการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท และโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง ๒ ล้านล้านบาท

หากไม่จัดระบบการเรียนรู้ผ่าน MOOC ให้เป็นระบบ เราก็จะทำกันอย่างต่างคนต่างทำ แทนที่จะได้ผลดีคุ้มค่าการลงทุน เราก็จะจ่ายมาก ได้ผลน้อย หรืออาจใช้ MOOC เพื่อเป้าหมายการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๐ คือเน้นเรียนความจำสาระ ก็จะยิ่งขาดทุนย่อยยับ

หากไม่คิดเองให้ดี เราก็จะลอกแบบของต่างประเทศมาทั้งดุ้น การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นไทย ยกระดับจุดเด่นของวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองไทย ก็จะไม่เกิด กลายเป็นเรียนตามแนวทางสร้างพลเมืองของประเทศอื่น ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยจะหายไป กลายเป็นเส้นทางสูญชาติ สูญวัฒนธรรมประจำชาติ

เราต้องช่วยกันทำให้ คลื่นลูกใหม่ ของการปฏิรูปการศึกษา ด้วย MOOC เป็นเส้นทางแห่งโอกาส ไม่เป็นเส้นทางแห่งหายนะ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ก.ค. ๕๖ 
วันเข้าพรรษา

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/546441

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2013 เวลา 10:46 น.