มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๘. วิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช vs ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมอ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ "มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๘. วิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา"

ทำให้นำมาเปรียบเทียบกับมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ และได้เขียนแสดงความคิดเห็นในบทความของท่านอาจารย์ดังนี้

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

จากบทความของท่านในประโยค  "แน่นอนว่า มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาเพื่อทำงานวิชาการด้าน การพัฒนานักศึกษานั่นเอง     และ Skoll Centre for Social Entrepreneurship ของ Said School of Business  มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ก็คือศูนย์วิชาการด้านการพัฒนานักศึกษาด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั่นเอง   โปรดอ่านและสังเกตใน เว็บไซต์ ของเขา     จะเห็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลในการพัฒนาวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง โดยใช้ scholarship เป็นเครื่องมือดึงดูดคนเก่งมาร่วมทำงานสร้างสรรค์    ซึ่งส่วนหนึ่งคือใช้นักศึกษานั่นเอง เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

และเคล็ดลับอยู่ที่การมองนักศึกษาเป็นผู้(ร่วม) สร้างสรรค์วิชาการ    ไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดวิชา"

ทำให้ผมเกิดการเปรียบเทียบดังนี้

"มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เป็นเวทีให้คนมาร่วมเรียนรู้ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกันเพื่อพัฒนาเพิ่มคุณค่าคนให้มีคุณค่า ไม่เป็นภาระและเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เป็นองค์กรหนึ่งที่ผลักดันในการแก้ไขและพัฒนาสังคมที่อ่อนแอให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ"

ขอแสดงความนับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

26 ตุลาคม 2556

บทความเต็มของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

มหาวิทยาลัยที่เราไปเยี่ยมชม คัดสรรแล้วว่าเป็นเลิศด้านความเอาใจใส่ด้านจัดการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยแบ่งกลุ่มง่ายๆ ได้เป็น ๒ กลุ่ม   คือ กลุ่มที่เก่งวิจัยพื้นฐานด้วย   ได้แก่ อ็อกซฟอร์ด กับ UCL   กับกลุ่มที่ เน้นนักศึกษาเป็นหลัก ได้แก่ Northampton กับ Aston   กลุ่มหลังนี้แหละ ที่ผมตั้งข้อสังเกตว่า   เขาทำวิจัยเพื่อ นักศึกษา   หรือกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เขาทำวิจัยเพื่อผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นหลัก    เป้าหมายอื่นเป็นรอง

 

ในเอกสาร Learning and Teaching Strategy 2012 – 2020 ของมหาวิทยาลัยแอสตัน    ระบุว่า สิ่งที่สอน และวิธีการสอนนั้นเลือกแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ โดยมีหลักฐานจากการวิจัย (research-informed)    เขาระบุว่า อจารย์จะสร้างแรงบันดาลใจแก่ นศ. ด้วย  research-informed and professionally-focussed programmes that incorporate quality teaching, research-inspired teaching excellence    ภายในเอกสารไม่ระบุการวิจัย เรื่อง การเรียนรู้เลย    แต่ระบุคำว่า review ไว้บ่อยมาก    คือในการดำเนินการริเริ่มสร้างสรรค์ของเขาในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน    จะต้องตามมาด้วยการ review หรือประเมินผลเพื่อการปรับปรุง ต่อเนื่อง    ซึ่งก็คือการวิจัยเพื่อพัฒนานั่นเอง

ในเอกสาร Raising the Bar : Strategic Plan 2010 – 2015ของมหาวิทยาลัย Northampton    ผมพยายามหาหัวข้อวิจัย    พบว่าไม่มีครับ    ผมตีความว่าเรื่องการวิจัยเป็นของธรรมดาสำหรับการพัฒนางาน ของเขา จนไม่ต้องเอ่ยถีง   เหมือนปลาไม่ต้องเอ่ยถึงน้ำ

แต่ผมสังเกตเห็นว่า เขากำหนด KPI ไว้    ทำให้คิดต่อ ว่า KPI น่าจะเป็นคล้ายๆ โจทย์วิจัย เพื่อการพัฒนางาน ที่เป็นเป้าหมายหลัก

ผมลอง กูเกิ้ล ด้วยคำว่า “student development research” พบว่ามีเรื่องราวมากมาย     สะท้อนว่า เรื่องการพัฒนานักศึกษาเป็นวิชาการที่เข้มข้น และเป็นที่เอาใจใส่กันมาก    และมีหนังสือที่เขียนเรื่องนี้ด้วย ดังตัวอย่าง หนังสือชื่อ Student Development in College : Theory, Research and Practice, 2nd Ed. (หรือดู ที่นี่)   ทำให้ เห็นโอกาสของคนที่ต้องการสร้างตัวเป็นนักวิชาการด้านนี้ ในวงการอุดมศึกษาไทย

แน่นอนว่า มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาเพื่อทำงานวิชาการด้าน การพัฒนานักศึกษานั่นเอง     และ Skoll Centre for Social Entrepreneurship ของ Said School of Business มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ก็คือศูนย์วิชาการด้านการพัฒนานักศึกษาด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั่นเอง   โปรดอ่านและสังเกตใน เว็บไซต์ ของเขา     จะเห็นยุทธศาสตร์ที่แยบยลในการพัฒนาวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง โดยใช้ scholarship เป็นเครื่องมือดึงดูดคนเก่งมาร่วมทำงานสร้างสรรค์    ซึ่งส่วนหนึ่งคือใช้นักศึกษานั่นเอง เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานักศึกษา

และเคล็ดลับอยู่ที่การมองนักศึกษาเป็นผู้(ร่วม) สร้างสรรค์วิชาการ    ไม่ใช่ผู้มารับถ่ายทอดวิชา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 17:55 น.