ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

วันพุธที่ 26 เมษายน 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัย


Prof. Vicharn Panich

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการ steering committee โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการเรียนรู้ ที่ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งคราวนี้คุยกันเรื่อง นโบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย


ทำให้ผมได้มุมมองต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยถึง ๕ ด้าน

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยในภาพรวม อัตราเข้าถึงบริการการศึกษาของเด็กปฐมวัยสูงมาก คือร้อยละ ๗๔ จากสถิติของ UNESCO (อัตราเฉลี่ยทั้งโลก ร้อยละ ๔๔) และไม่มีความแตกต่างระหว่างเด็กจากครอบครัวฐานะดี กับเด็กจากครอบครัวยากจน (ข้อมูลจาก UNICEF โครงการ MICS และข้อมูลจาก PISA)


แต่ผมสนใจเรื่องคุณภาพมากกว่า เพราะการเข้าถึงบริการผิดๆ อาจยิ่งมีผลติดลบ

ผมมองว่าการดูแลคุณภาพของพัฒนาการเด็กปฐมวัย คืออนาคตของบ้านเมือง และควรโฟกัสที่ลูกของพ่อแม่ยากจน ที่มีรายงานผลการวิจัยทางสมองว่า สมองเติบโตผิดปกติ ดัง บันทึกนี้


การอภิปรายของผู้เข้าร่วมประชุม ชี้ให้เห็นว่า การดูแลพัฒนาการของเด็กปฐมวัยของประเทศไทยเดินผิดทางจริงๆ คือศูนย์เด็กปฐมวัยของ อปท. มักจะทำหน้าที่รับเลี้ยงเด็ก (เพราะพ่อแม่ไปทำงาน) หรือถ้าเป็นของเอกชนก็มักมุ่งสอนหนังสือ สนองความคาดหวังของพ่อแม่ ที่ต้องการให้สอนให้ลูกอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผิด การดูแลเด็กปฐมวัยที่ถูกต้องคือให้ได้เล่น ได้เข้าสังคมกับเพื่อน ได้ฝึกภาษา และฝึกระเบียบวินัย ฝึก EFเพื่อวางรากฐานชีวิต

ดังนั้น สิ่งที่ควรเป็นนโยบายด้านการพัฒนาเด็กเล็กของไทยคือ (๑) พัฒนาคุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก (๒) พัฒนาคุณภาพของครูปฐมวัย (๓) พัฒนาความเข้าใจของพ่อแม่ เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย (๔) ช่วยเหลือด้านการเงินแก่พ่อแม่เด็กปฐมวัย และด้านลดความเครียดเรื้อรังในเด็กที่พ่อแม่ยากจน ที่มีผลให้ HPA Axis อ่อนแอ พัฒนา EF ยาก โดยพ่อแม่ต้องไปรับการฝึกอบรมวิธีเลี้ยงลูก จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ ที่เรียกว่า conditional cash transfer

ประเทศไทยเราโชคดี ที่ความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยได้รับการยอมรับจากด้านการเมืองแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มี.ค. ๖๐


คัดลอกจาก https://www.gotoknow.org/posts/627928

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 26 เมษายน 2017 เวลา 02:24 น.