ชีวิตที่พอเพียง 2964. จากพัฒนาสุขภาวะเยาวชน โดยจัดการปัจจัยเสี่ยงทีละตัว สู่การทำงานแบบบูรณาการ.

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฏาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมได้เล่าความคิดคำนึงเรื่องการหาแนวทางสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน ที่นี่    โดยในบันทึกดังกล่าวเสนอให้สร้างภูมิต้านทานภายในตัวเด็ก โดยการพัฒนา EF ให้เข้มแข็ง   


ในบันทึกนี้ขอเสนอข้อคิดคำนึงจากการไปเป็นกองหนุนให้ สคส.   ไปเสนอผลงานที่ สสส. ในส่วนข้อเสนอแนะการทำงานของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพเด็กผ่านมิติโรงเรียน    เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐    โดยผู้เสนอผลงานคือคุณอ้อ (วรรณา เลิศวิจิตรจรัส)   


ผมไปให้ข้อเสนอแนะเสริมคุณอ้อ    โดยที่ข้อเสนอแนะนี้อิงผลการวิจัยจากทั่วโลก และระบุไว้ ในหนังสือ The Finnish Lessons 2.0  และเคยเขียนไว้ใน บันทึกนี้    คือผลกระทบด้านการเรียนรู้ของเด็ก เพียงหนึ่งในสามเท่านั้นมาจากการดำเนินการของโรงเรียน    อีกสองในสามมาจากปัจจัยนอกโรงเรียน (มายาคติข้อที่ ๑ ในบันทึกที่อ้างถึง)

ผมจึงเสนอให้ สสส. ใช้ทรัพยากรก้อนใหญ่ทำงานสนับสนุนหลายฝ่าย ให้ร่วมกันสร้าง สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก    เพื่อให้ปัจจัยส่วนสองในสาม (ที่อยู่นอกโรงเรียน) เพื่อการสร้าง “นิสัยสุขภาวะ” ให้แก่เด็ก  


ถามว่าทำอย่างไร

คำตอบคือ มีหลายพื้นที่ในประเทศ ดำเนินการตามที่ผมเสนออยู่บ้างแล้ว ในหลากหลายรูปแบบ    ให้เริ่มต้นโดยเสาะหาพื้นที่เหล่านั้น    เชิญผู้นำหรือแกนนำของเขามาร่วมกันออกความเห็นว่า จะทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้นได้อย่างไร  จะขยายผลไปทั่วประเทศได้อย่างไร    ปัจจัยที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดใน การดำเนินการให้ได้ผลคืออะไร ฯลฯ    แล้ว สสส. ให้เงินสนับสนุนหน่วยงานหรือทีมงาน ดำเนินการพัฒนา รูปแบบการเชื่อมโยงและขยายผลกิจกรรมเหล่านั้น    ให้ขยายไปทั่วประเทศ  และมีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ    รวมทั้งมีการวัดการหยั่งรากลึกเป็นระบบพัฒนาเด็กและเยาวชน เสริมกิจกรรมที่โรงเรียน    บูรณาการเป็นระบบ ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน แต่ร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน     มีเป้าหมายหลักที่การสร้างพลเมืองคุณภาพสูงให้แก่ประเทศ 

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ  และปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียคนของเด็ก ก็จะลดไปเองโดยปริยาย



วิจารณ์ พานิช

๒๓ มิ.ย. ๖๐


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/631359