ชีวิตที่พอเพียง : 2990 อ่านใจคน

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เพราะพบบทความเรื่อง EF Depletion   ซึ่งโยงไปยัง TOM (Theory of Mind) ที่วิกิพีเดียไทยเรียกว่า ทฤษฎีจิต    ชักจูงให้ผมทำความเข้าใจเรื่องกลไกในสมองว่าด้วยการอ่านใจคน    และผมตีความว่า EF ช่วยให้คนเราอ่านใจคนได้ดี    คนที่เข้าใจคนอื่นได้ดีย่อมเป็นคนมีความสามารถสูง  


เมื่อราวๆ ๔๐ ปีก่อน ผมเคยฟังการบรรยายด้านการบริหาร ว่าผู้บริหารต้องเก่ง ๓ ด้าน    คือเก่งคน  เก่งงาน  และ เก่งคิด    มาถึงตอนนี้ผมตีความว่า ส่วนหนึ่งของเก่งคนคือ เก่งด้านอ่านใจคน     ซึ่งมีทั้งอ่าน เป็นคนๆ ตามสถานการณ์    และอ่านภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     การมีโพลสอบถามความเห็นของคน เป็นเครื่องช่วยอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจใจคนในภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 


เรามีคำว่า “เด็กไร้เดียงสา”   น่าจะหมายถึงอ่านใจคนไม่ออก  ไม่เข้าใจ วาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของผู้คน     เราจึงมีคำว่า “ผู้เยาว์ “ ซึ่งหมายถึงผู้ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทางความคิด และทางอารมณ์    ซึ่งความรู้ใหม่ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่ากว่าคนเราจะบรรลุวุฒิภาวะเต็มที่ จะต้องอายุ ๒๕ ปี หรือเกือบถึง ๓๐ ปี    และผมบอกตัวเองว่า ผมอายุกว่า ๓๐ ก็ยังไม่ “สุก” เต็มที่ (คือยังห่ามอยู่)    การอ่านใจคนไม่ออก เป็นลักษณะหนึ่งที่คนไทยเรียกว่า “ไม่มีไหวพริบ”    สมัยผมอายุ ๑๐ - ๑๕ ขวบ ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำงานมาก    และทำผิดพลาดบ่อยๆ    พ่อผมตำหนิว่า “ไม่มีไหวพริบ”    ซึ่งย่อมต้องเป็นเช่นนั้นเพราะวุฒิภาวะของผม ยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่พ่อคาดหวัง 


ผมคิดว่า การอ่านใจคนไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคลเท่านั้น ยังขึ้นกับเหตุการณ์ และกาละเทศะของเรื่องราว นั้นๆ    การอ่านใจคนจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน    ที่ “ความจำใช้งาน” (working memory) จะต้องดึงข้อมูล จากเหตุการณ์  และดึงข้อมูลจาก “ความจำระยะยาว” (longterm memory) หรือความรู้เดิม ที่มีความซับซ้อน     เอามาประมวล เพื่อเข้าใจว่า ที่นาย ก พูดอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร    ในขณะที่ นางสาว ข พูดคำพูดเดียวกัน  มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

 นี่คือพลังของ EF  และ “ความรู้เดิม” (prior memory) หรือความจำใช้งาน (longterm memory)   ในการช่วยให้คนเราเข้าใจคนอื่นได้ในมิติที่ลึก    นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คนอื่น



วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๖๐


 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 13:09 น.