ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๖๐

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 00:00 น. ศ.ประเวศ วะสี บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๖๐

 


•รากของวิกฤต            •ปฏิรูปอะไร            •ปฏิรูปอย่างไร

ประเวศ วะสี

ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่ระบบการศึกษาไทยก็ยังวิกฤต

ปี ๒๕๖๐ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมาการอิสระปฏิรูปการศึกษา

ทุกภาคส่วนควรช่วยกันระดมความคิด

 

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์


.

สาเหตุอันเป็นรากของวิกฤตการศึกษาไทย

 

(๑) ระบบการศึกษาที่เอา “วิชา” เป็นตัวตั้งแทนที่จะเรียนรู้จากสถานการณ์จริง สาเหตุนี้มีที่มา คือในสมัย ร.๕ เมื่อประเทศไทยถูกคุกคามอย่างหนักจากมหาอำนาจยุโรป ทำให้ผู้นำไทยตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวเป็นต้น เกิดความตระหนกว่า “ฝรั่งมีความรู้ เราไม่มีความรู้” จึงรีบจัดการศึกษาสมัยใหม่ ชนิดที่เป็น “การต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย” ซึ่งก็มีความจำเป็นในขณะนั้น

แต่การศึกษาแบบนี้เมื่อทำมากเข้าๆ กลายเป็นระบบการศึกษาและวิธีคิดที่เอา “วิชา” เป็นตัวตั้งทั้งเนื้อทั้งตัว แทนที่จะเอาสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง

 เราคุ้นเคยกับการศึกษาแบบนี้จนไม่ได้คิด แท้ที่จริงมีผลกระทบร้ายแรงต่อคนไทยและประเทศไทยมาก จะเข้าใจเรื่องนี้แจ่มแจ้งขึ้นถ้าเข้าใจหน้าที่หลักของสมอง ทั้งคนและสัตว์ต้องมีสมองจึงจะอยู่รอดและอยู่ดี

หน้าที่หลักของสมอง คือรับรู้สถานการณ์จริงรอบตัว แล้วตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และทำอย่างไร อย่างทันกาล

การตัดสินใจเป็นการใช้ปัญญาสูงสุด ถ้าตัดสินใจผิดมีผลกระทบทางลบ จนกระทั่งอาจเสียชีวิต ถ้าตัดสินใจถูกมีผลทางบวก การตัดสินใจต้องมีฐานมาจากการรู้สถานการณ์จริง

นี่คือหน้าที่หลักของสมอง การรู้วิชาอาจสนองความสนใจ ให้ความสุข หรือเอามาประกอบให้เข้าใจความเป็นจริงและตัดสินใจได้ดีขึ้น “วิชา” จึงเป็นตัวประกอบอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวหลัก

แต่ถ้าเราเอาตัวประกอบคือ “วิชา” มาเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาหน้าที่หลักของสมองคือรับรู้สถานการณ์จริง และตัดสินได้ถูกต้องทันกาลเป็นตัวตั้ง เราจะเข้าไปสู่ความลำบาก  ความลำบากจากระบบการศึกษาที่เอาการท่องวิชาเป็นตัวตั้ง มีหลายอย่าง เช่น

(ก)    เนื้อหาวิชามีมาก ท่องจำยาก เหนื่อย ไม่สนุก การศึกษากลายเป็นความทุกข์แทนที่จะเป็นความสุข มนุษย์เรียนรู้จากการปฏิบัติได้ดีกว่า สนุกกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่า มีคติที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” การศึกษาของเราเป็นแบบ “สิบปากว่า” แทนที่จะเป็น “มือคลำ” หรือปฏิบัติการจริง

(ข)    ภาคธุรกิจอุทธรณ์ว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา “ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ” เพราะเรียนมาแบบท่องวิชา ที่จริงมี “ไม่เป็น” อื่นๆ อีกเยอะ เช่น คิดไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น จัดการไม่เป็น เพราะเรียนแบบท่องเป็นไม่ใช่ทำเป็น

(ค)    ถ้าเทียบกับการเรียนรู้ของคนไทยเชื้อสายจีนที่ยากจนจะเห็นแตกต่างกันมาก คนไทยเชื้อสายจีนที่จนไม่รู้หนังสือ เรียนรู้จากการทำงานด้วยความขยันและประหยัด สะสมประสบการณ์ สะสมทุน จัดการเป็น ขยายกิจการใหญ่โต กลายเป็นมหาเศรษฐี คนเหล่านี้สามารถคิดใหญ่ได้ ต่างจากคนที่เรียนมาในระบบที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เพราะวิชาแยกเป็นวิชาๆ หรือเป็นส่วนๆ ทำให้ไปไม่เป็น ส่วนการทำงานนั้นเอาสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง สถานการณ์จริงหรือความจริงนั้นเชื่อมโยงกัน จากจุดเล็กก็เชื่อมไปสู่สิ่งใหญ่ได้ ควรสังเกตว่าคนไทยที่จบปริญญามาเกือบทั้งหมดคิดใหญ่ไม่เป็น

(ง)     ในรอบ ๑๐๐ กว่าปีที่เรามีการศึกษาแบบนี้ ได้สร้างคนไทยขึ้นมา ๔-๕ ชั่วคน หรือคนไทยทั้งหมดในปัจจุบันที่ไม่รู้ความจริงประเทศไทย แต่คนที่มีการศึกษาก็ไปมีตำแหน่งรับผิดชอบในกิจการบ้านเมือง แต่ในเมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นบ่นว่าข้าราชการที่มาปกครองท้องถิ่นมีอำนาจแต่ไม่รู้เรื่องท้องถิ่น

(จ)     กฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนจากชุมชนต้องเข้าเรียนในระบบการศึกษาที่เป็นทางการ แต่การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งทำให้เขาแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่น ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นได้ การศึกษาแบบนี้จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ชุมชนท้องถิ่นคือพื้นฐานของประเทศ ระบบการศึกษาปัจจุบันจึงทำให้ฐานของประเทศอ่อนแอ

(ฉ)    การที่ทั้งครูและนักเรียนในระบบการศึกษาซึ่งรวมกันมีจำนวนมากกว่า ๑๐ ล้านคน ไม่ได้เรียนรู้จากการทำงานสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ดังจะเห็นได้ว่าครูก็จน นักเรียนก็จน ผู้ปกครองก็จน อาจเรียกว่าเป็นการศึกษาที่สร้างความยากจน ในขณะที่การเรียนของคนไทยเชื้อสายจีนที่กล่าวถึงในข้อ () เป็นการศึกษาที่สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

(ช)    ครูที่สอนท่องวิชาจะล้าสมัยใหม่โดยรวดเร็ว กลายเป็นครูไม่เก่ง ทำอย่างไรๆ ก็แก้ปัญหาคุณภาพครูไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากระบบถ่ายทอดวิชาไปเป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้ ครูต้องเป็นผู้เรียนรู้จึงจะเก่ง ครูที่สอนอย่างเดียวที่เคยเก่งก็จะไม่เก่ง

 

(๒) ระบบบริหารการศึกษาเป็นระบบควบคุมซึ่งขัดแย้งกับธรรมชาติการศึกษา ซึ่งเป็นความงอกงามอย่างหลากหลายอันไม่มีที่สิ้นสุด

ระบบราชการซึ่งสร้างขึ้นในสมัย ร.๕ เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพราะต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว มุ่งสู่การพัฒนาความเป็นสมัยใหม่และป้องกันการที่มหาอำนาจตะวันตกจะมาลิบเล็มพื้นที่ประเทศไทย ระบบราชการที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งรวม ประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ฉบับ ควบคุมการปฏิบัติ จึงเป็นระบบควบคุมที่หนาแน่น เมื่อใช้ระบบนี้บริหารการศึกษาโดยกระทรวงศึกษา การศึกษาที่ถูกควบคุมอย่างแน่นหนา ทำให้ไม่สามารถริเริ่มอะไรใหม่ๆ อย่างหลากหลายไปตามธรรมชาติของความหลากหลายของบุคคล อาชีพ ชุมชน ท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลง ใช้กำลังคนมหาศาลในการควบคุมในนามของผู้บริหารการศึกษา เนื่องจากระบบราชการมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ครูจึงอยากเป็นผู้บริหารมากกว่าอยากเป็นครู

ลองเปรียบเทียบกระถางบอนไซ ที่ต้นไม้ถูกควบคุมให้แคระแกรนอยู่ในกระถางกับป่าใหญ่ที่แมกไม้นานาพันธุ์มีอิสระที่จะงอกงามอย่างหลากหลายจะเห็นภาพ

ถ้าระบบบริหารการศึกษาไม่ใช่ระบบควบคุม แต่เป็นระบบที่เห็นคุณค่าความงอกงามอย่างหลากหลาย เราจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่ง ว่าผู้คน ครอบครัว องค์กร ชุมชน ท้องถิ่น มีอิสระที่จะมีจินตนาการ มีความริเริ่มหรือนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลายที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสถานการณ์จริง กระทรวงศึกษาไม่ต้องไปควบคุมเขา แต่เห็นคุณค่าความงามของความหลากหลายเหล่านั้น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน กระทรวงศึกษาธิการจะไม่รกรุงรังด้วยคนที่ทำหน้าที่ควบคุมเช่นทุกวันนี้ แต่ปรับตัวไปเป็นองค์กรนโยบายและสร้างสรรค์

 

() โครงสร้างการศึกษาแบบแท่งไซโลที่แข็งเป็นหิน (Ossified xylo educational structure) ที่เกิดจาก (), () และค่านิยม

โครงสร้างแท่งเดี่ยวแบบไซโลโดดเด่นครอบงำการศึกษาไทย

เราคุ้นเคยกับโครงสร้างนี้จนไม่นึกเป็นอื่น และไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางลบอันมหาศาล

โครงสร้างนี้เกิดจากแนวคิดว่า การศึกษาคือการท่องวิชาตามที่กล่าวใน () และระบบบริหารที่รวมศูนย์อำนาจที่ต้องการควบคุมให้เหมือนๆ กันทั้งประเทศ ประกอบกับค่านิยมในสังคมไทยแบบ “รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา” “ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน” “ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน” คือรังเกียจการทำงานว่าเป็นของต่ำ (ต่างจากคนไทยเชื้อสายจีนที่กล่าวถึงข้างต้น) จึงไม่นิยมเรียนอาชีวศึกษาทั้งๆ ที่อาชีวศึกษาเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่มุ่งสายสามัญแบบท่องวิชาไปเอาปริญญาเพื่อมีหน้ามีตาและเป็นเจ้าคนนายคน อีกทั้งระบบราชการก็ตีราคาเงินเดือนตามปริญญา ในขณะที่ญี่ปุ่นคนได้รับปริญญาหรือไม่ได้รับปริญญาก็มีรายได้พอๆ กัน เพราะมีความเป็นคนที่ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน การตีราคาเงินเดือนตามปริญญา ทำให้เกิดค่านิยมหรือการบ้าปริญญาในสังคมไทย

ในเมื่อถนนการศึกษาทุกสายมุ่งไปสู่การได้ปริญญา การจราจรการศึกษาจึงแออัดยัดเยียดตะเกียกตะกายเข้าโรงเรียนดีๆ และมหาวิทยาลัย ทำให้การศึกษากลายเป็นการค้า การติวเข้าโรงเรียนดัง และมหาวิทยาลัย กลายเป็นธุรกรรมทางการศึกษา พ่อแม่ต้องเสียเงินเสียทอง ลูกต้องอพยพจากชนบทเพื่อเข้ามาติวในเมือง ผู้ปกครองต้องวิ่งเต้นเส้นสายเสียแปะเจี้ยะให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดัง อุดมศึกษาหลายแห่งเป็นการค้าแบบ “จ่ายครบจบแน่”

มหาวิทยาลัยทั้งหมดแน่นไปด้วยผู้ที่ต้องการปริญญา เป็นภาระหนักในการสอนของอาจารย์ ทำให้การวิจัยน้อย มหาวิทยาลัยจึงอ่อนแอทางวิชาการ

ทว่าระบบไซโลทางการศึกษานี้แข็งเป็นหิน เพราะทำกันมานานจนเป็นความเชื่อของทุกฝ่ายว่าต้องทำอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงจากนี้ไม่ได้ แต่ระบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางลบมากหลาย เช่น

(ก)  ก่อความทุกข์ให้นักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศที่กลัวจะไม่ได้เข้าโรงเรียนดีๆ และเข้ามหาวิทยาลัย ต้องตะเกียกตะกายวิ่งเต้นเสียเงินเสียทอง

(ข)  การศึกษาแท่งไซโลมุ่งปริญญา แทนที่จะแตกตัวไปตามความถนัดและความต้องการอันหลากหลายทำให้ชุมชนท้องถิ่น และอาชีวศึกษาอ่อนแอ

(ค)  ผู้ที่จบการศึกษาแบบนี้ก็ไม่เก่งจริง ทำงานไม่เป็น วิชาการก็ไม่เก่ง เสมือนผลิตคนหยิบโหย่งขึ้นมาเต็มประเทศ

(ง)   มหาวิทยาลัยรับภาระหนักในการสอนคนที่อยากได้ปริญญา ทำให้หน้าที่สร้างความรู้บกพร่อง นั่นคืออ่อนแอทางวิชาการ

(จ)   ระบบการศึกษาแบบนี้เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ผมจะไม่อธิบายว่าทำไมในที่นี้ ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาตามมาเป็นพรวน ระบบการศึกษาที่ดีควรลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

 

รากของปัญหาที่กล่าวถึง ๓ อย่างนี้ นำไปสู่ปัญหาของการศึกษานานัปการ เราควรแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล

(โปรดติดตามตอนต่อไปปฎิรูปอะไร)

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 18:32 น.