ชีวิตที่พอเพียง : 3004. Pomodoro Technique กับชีวิตของผมเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

หนังสือ The Pomodoro Technique เขียนโดย Francesco Cirillo   จากการคิดค้นด้วยตนเองของผู้เขียน ระหว่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย    เป็นเทคนิคช่วยให้ใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น     มีจิตใจที่ จดจ่อกับงาน และมีแรงจูงใจต่องานมากขึ้น 

จริงๆ แล้ว เป็นเทคนิคทางจิตวิทยา     ที่คนเราส่วนใหญ่เมื่อต้องทำงานชิ้นโต     มักเกิดอาการใจแป้ว ไม่สู้    เพราะคิดว่ายากและต้องใช้ความพยายามมาก    


Cirillo แก้ปัญหาใจไม่สู้ด้วยการแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ ที่สำเร็จได้ภายใน ๒๕ ถึง ๔๕ นาที    แล้วพัก ๕ นาที    เขาบอกว่าเมื่อทำสำเร็จชิ้นหนึ่ง ใจเราจะรู้สึกว่าได้รับรางวัล รู้สึกชุ่มชื่นใจจากความสำเร็จเล็กๆ     เป็นกลไกทางจิตวิทยาให้เรามุมานะบากบั่นต่อ    รวมทั้งหมดแล้วงานทั้งก้อนอาจมี ๒๐ ชิ้นส่วนเล็กๆ    เราก็จะได้ เสพเอ็นดอร์ฟินแห่งความสุขความพึงพอใจ    เอ็นดอร์ฟินเล็กน้อยนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้เรามานะพยายาม ต่อไป


Cirillo ค้นพบเคล็ดลับนี้ด้วยตนเองตอนเป็นนักศึกษา เมื่อสามสิบปีมาแล้ว     และพัฒนาขึ้นเป็นเทคนิค ที่มีความชัดเจน    ใช้ทำมาหากินเลี้ยงชีพมาจนทุกวันนี้ ดูได้ ที่นี่ 


เมื่อหกสิบปีมาแล้ว พ.ศ. ๒๕๐๐ ผมเดินทางจากบ้านนอกมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพในชั้น ม. ๖ (เทียบกับสมัยนี้คือ ม. ๔) ด้วยเป้าหมายว่าจะฟันฝ่าสู่การเรียนหมอตามที่พ่อแม่ตั้งความหวัง    ด้วยความอ่อนวัย (และโชคดี อ่อนน้อม) ผมมองคนที่เรียนอยู่ชั้นสูงกว่าด้วยความทึ่ง พิศวงในความสามารถด้านการเรียนของเขา     และหมั่นสังเกตวิธีการเรียนของเขา นำมาใช้ในการเรียนของตนเอง     รวมทั้งต่อมาหาซื้อหนังสือว่าด้วยวิธีเรียน มาอ่านและทดลองใช้    


วิธีหนึ่งที่ผมค้นพบตั้งแต่อายุ ๑๕ ก็คือวิธี Pomodoro ของ Cirillo นี่แหละ    แต่ผมไม่เก่งพอที่จะทำให้ มันชัดเจน และนำออกใช้หากินอย่าง Cirillo    

  สมัยนั้นวิธีเรียนที่บ้านทำโดยอ่านตำราเรียน คู่มือ และทำแบบฝึกหัดตามคู่มือแล้วตรวจสอบกับคำเฉลย    รวมทั้งหาหนังสือตำราเสริมมาอ่านทำความเข้าใจให้กว้างขวางขึ้น    เป้าหมายมีอย่างเดียวคือทำข้อสอบให้ได้ดี     เพื่อจะได้สอบแข่งขันเข้าเรียนในขั้นต่อไปได้    สำหรับเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คือสอบเข้าโรงเรียนเตรียม อุดมศึกษาให้ได้    และเป้าสำหรับช่วงปี ๒๕๐๑ - ๒๕๐๓ คือสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ หรือเข้าเตรียมแพทย์ เชียงใหม่  หรือคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้ได้     สำหรับผมในตอนนั้นเป้าหมาย ชัดเจนมาก และมั่นใจว่าน่าจะทำได้สำเร็จ     โดยไม่เคยประมาทเลย     พยายามหาวิธีเรียนให้เรียนได้ดีที่สุด 


ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ บนชั้นสองของห้องแถวไม้ห้องเดียวแถวเจริญผล เยื้องสนามกีฬาแห่งชาติ     ที่ตอนนั้นเป็นคลินิกแพทย์ ชื่อแพทยาศรม    เป็นที่อาศัยของนักศึกษาแพทย์ศิริราช ๑ คน   นิสิตวิศวะจุฬา ๑ คน    นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๑ คน    เจ้าหน้าที่ช่วยงานคลินิก ๑ คน     และผมเด็กที่สุด เป็นนักเรียน ม. ๖   ผมต้องหาวิธีเรียนให้ได้ผลการเรียนสูงสุดเพื่อถางทางสู่อนาคต


อ่านหนังสือไปนานๆ ก็ง่วง อ่านไม่รู้เรื่อง    ผมค้นพบวิธีอ่านครั้งละครึ่งชั่วโมง  สลับกับออกไปเดิน สักครู่ หรือไปอาบน้ำ     พบว่าแก้ปัญหาง่วงได้ดี    ตอนนั้นเราไม่รู้จักเครื่องปรับอากาศ     ดังนั้นอากาศในห้องจึง ค่อนข้างอบอ้าว ซึ่งเราก็อยู่จนชิน    แต่ถ้าได้อาบน้ำก็จะสดชื่นขึ้นทันที    ช่วยให้ร่างกายและสมองตื่นตัว     อ่านหนังสือหรือสมุดจดได้เข้าใจง่ายขึ้น และจำได้ดีขึ้น 


อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยการเรียนหรือการทำงาน คือ “การสรุปบทเรียน” สมัยนั้นผมซื้อสมุดโน้ตเล็กๆ ขนาดใส่กระเป๋าเสื้อเชิ้ร์ตได้    เอามาจดสรุปบทเรียนทีละตอน     เก็บไว้ทบทวนยามว่าง หรือตอนใกล้สอบ    ผมมาตีความตอนนี้ว่า    การสรุปแก่นสาระเป็นจิตวิทยาว่าด้วยความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปขั้นตอนหนึ่ง   ทำให้เกิดกำลังใจเรียนหรือทำงานในขั้นตอนต่อไป   เป็นการให้รางวัลตัวเองทางอ้อม


เรื่องให้รางวัลตัวเองนี้ ผมใช้มาตั้งแต่ตอนนั้น    โดยหลังการสอบทุกครั้ง หากผมทำข้อสอบได้ดี ตกเย็นผมจะซื้อขนมทองหยิบ ๒ บาทให้ตัวเองกินเป็นรางวัล    สองบาทสมัยนั้นเป็นเงินมากนะครับ    เท่ากับอาหาร ๑ มื้อตามปกติของผม    ที่มักกินก่วยเตี๋ยวเส้นเล็กคลุกข้าว    ก๋วยเตี่ยวห่อละ ๑.๕๐ บาท   ข้าวเปล่าห่อละ ๕๐ สตางค์    ซื้อมากินที่คลินิก


วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๖๐


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017 เวลา 04:07 น.