ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

วันพุธที่ 04 ตุลาคม 2017 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมเขียนบันทึก สิ้นยุคมหาวิทยาลัย ลงบล็อกเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐ คนเข้าอ่านมากกว่าบันทึกใดๆ    บัดนี้ พบหนังสือ Don’t Go Back to School  : A Handbook for Learning Anything ที่สาระคล้ายกัน    เชียร์ให้คนเรียนด้วยตนเอง (independent learning)    ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน มหาวิทยาลัยก็มีชีวิตที่ดีได้

เขาบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา กระแสเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาสำหรับทุกคน เพิ่งเริ่มหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง เมื่อทหารผ่านศึกกลับจากสงครามและได้รับสิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัยฟรี    มีผลให้การเรียนจบ มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นความรู้สำหรับการมีงานที่ดีทำในเวลาต่อมา

แต่บัดนี้สถานการณ์แตกต่างออกไป    ตอนนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ค่าเล่าเรียนของ มหาวิทยาลัยไม่สูงลิ่วอย่างในปัจจุบัน   การเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องประกันการมีงานทำ    และการที่ เงินเดือนเพิ่มทุกปี    สภาพนั้นจบสิ้นไปแล้ว  

หนังสือไม่ได้ระบุชัดเจน    แต่ผมเข้าใจว่า เวลานี้การเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่ประกันว่าผู้นั้นทำงานเป็น    ดังนั้นสถานประกอบการจึงลดความเชื่อถือใบปริญญาลงไป    หันไปเชื่อใบประวัติการเรียนและการฝึก/ทำงาน  และใบรับรองของบุคคลที่น่าเชื่อถือแทน   ยิ่งนับวันใบปริญญาก็ยิ่งด้อยค่าลง 

การเรียนที่มีคุณค่า เป็นการเรียนโดยกำกับตัวเอง (independent learning)    มาจากแรงขับดันภายใน (intrinsic motivation)   แต่การเรียนในมหาวิทยาลัยผู้เรียน เรียนตามข้อกำหนดของหลักสูตร และการให้เกรด ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภายนอก (external motivation)     การเรียนแบบกำกับการเรียนของตนเอง สามารถทำได้สะดวกในยุคปัจจุบัน ที่มีรายวิชาออนไลน์มากมาย   

ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้    แต่ตอนนี้ยังต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย ในเรื่องห้องสมุด    แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดระบบเผยแพร่ความรู้แนวทางที่ไม่ตกอยู่ใต้ระบบธุรกิจมากเกินไป อย่างในปัจจุบัน     และผมยังสงสัยว่าจะเรียนในห้องปฏิบัติการที่ไหนหากไม่เข้ามหาวิทยาลัย 

คำแนะนำต่อการเรียนด้วยตนเองคือ อย่าเรียนคนเดียว    ให้เรียนโดยอิสระแต่ไม่ใช่แยกตัว     เพราะ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม    ต้องการปฏิสัมพันธ์ หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมนุษย์     โดยที่ระบบไอทีในปัจจุบันเอื้อให้ มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์เสมือนได้    แต่ก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์แท้อยู่ดี 

จงเรียนตามที่ใจรัก และเรียนจากการปฏิบัติในโลกหรือชีวิตจริงให้มากที่สุด    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ต้องสังเกตและเก็บข้อมูล เอาไปไตร่ตรองสะท้อนคิดเทียบกับตำราด้วย   

ระหว่างเรียนต้องสร้างเครือข่ายเพื่อนเรียน และเพื่อนในที่ทำงาน    เชื่อมโยงการเรียนกับการทำงาน    โดยผมเดาว่าต้องหาทางเรียนจากการสมัครเข้าฝึกงานด้วย    การที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องฝึกตัวเองให้มีความกล้า ระดับ “หน้าด้าน” (chutzpah)     และต้องเขียนเอกสารใบสะสมประสบการณ์การเรียนและทำงาน (portfolio) เอาไว้แสดงตอนสมัครงาน  แทนใบปริญญา    คู่กับใบแนะนำสนับสนุน (recommendation) จากผู้น่าเชื่อถือ    สิ่งเหล่านี้ได้จากการมีเครือข่าย

คนที่จะเรียนด้วยตนเองต้องพัฒนาทักษะสร้างเครือข่าย   โดยมีคนสร้างเครือข่ายกับศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย  โดยการเขียนจดหมายหรืออีเมล์ไปหา    หรือบางคนใช้วิธีเชิญไปรับประทานอาหารเพื่อพูดคุย ขอคำแนะนำ    การเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญที่หลงใหลเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำได้ไม่ยาก โดยแสดงความหลงใหล ของเรา  

อ่านแล้วผมตีความว่า สภาพการเรียนโดยไม่ต้องลงทะเบียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  จะค่อยๆ เติบโตขึ้น   และอาจกลายเป็นเส้นทางหลักของการศึกษาระดับสูงในอนาคต ๑๐ - ๒๐ ปีข้างหน้า    โดยปัจจัยหลักคือความ สนใจตั้งใจมุมานะที่จะเรียน    และสามารถกำกับตัวเองได้   รวมทั้งรู้วิธีสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ควบคู่ไปกับ เครือข่ายงาน   

ผมคิดว่าเส้นทางหนึ่งสู่งาน คือการสอบเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ    ซึ่งเวลานี้ในประเทศไทยเราก็มี สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้บริการ



วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ย. ๖๐ 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 04 ตุลาคม 2017 เวลา 23:55 น.