ชีวิตที่พอเพียง 2969a. เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณื พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เกิดจากความหละหลวมของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้ ความโลภและความฉ้อฉลออกมาทำงานได้ง่ายดาย


ชีวิตที่พอเพียง  2969a. เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐

บทความเรื่อง Learning the lessons of the 1997 crash ใน นสพ. บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นวันครบรอบ ๒๐ ปี ของวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง”    นสพ. บางกอกโพสต์จึงลงบทความขนาดยาว วิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น    ใครอยากรู้ว่าเขา วิเคราะห์ว่าอย่างไรอ่านเอาเองนะครับ    ผมจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวประกอบ    ว่าความบ้าคลั่งกำไรค้าที่ดิน และบ้านจัดสรรมันแรงแค่ไหน  

ผมมีที่ดิน ๕๔ ตารางวา พร้อมบ้านไม้ ๑ หลัง อยู่ที่บางขุนนนท์ ซอยตำรวจดับเพลิง    เข้าไปจนสุดซอย ที่เวลานี้ลูกชายเป็นเจ้าของ เป็นบ้านและสำนักตีโลปะ    ช่วงราวๆ ปี ๒๕๓๘ ศ. นพ. สมพร บุษราทิจ ซึ่งเป็นอาของผม และมีบ้านอยู่แถวนั้น ส่งข่าวมาบอกผมว่า มีคนติดต่อขอซื้อบ้านและที่ดิน เขาจะให้ราคา ๑๕ ล้านบาท    ผมเฉยๆ ไม่ได้อยากได้เงิน

ตอนนี้บ้านติดกันกับบ้านลูกชาย ที่ดินขนาดเท่าๆ กัน และมีบ้านไม้ใหญ่ปลูกเต็มที่ดินบอกขายลูกชาย ราคา ๓.๖ ล้านบาท    คิดเอาก็แล้วกันว่า ราคาที่ดินเมื่อ ๒๒ ปีก่อนมันถูกปั่นราคาแค่ไหน  

ช่วงปี ๒๕๓๕ ผมยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่    แต่มาเรียน วปอ.    เห็นเพื่อนนักเรียน วปอ. เขาซุบซิบกันเรื่องการลงทุนเป็นประจำ     หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว วันหนึ่งผมพบเพื่อน ปรอ. ๕ ที่เรียนด้วยกันและเป็นนักธุรกิจ   เขาเล่าว่าตอนนั้นเขาเนื้อหอมมาก    ธนาคารโทรศัพท์มาหาอยู่บ่อยๆ “มาเอาเงินกู้สัก ๒๐๐ ล้าน เอาไปซื้อที่ดินเก็งกำไรดีไหมครับ”    โชคดีที่เขาไม่โลภกู้เอามาซื้อที่ดินตามข้อเสนอของธนาคารที่มีเงินล้น    

ทันใดที่รัฐบาลไทยประกาศให้เงินบาทลอยตัว อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทก็เปลี่ยนจาก ๒๕ บาทต่อดอลล่าร์    เป็น ๔๐ บาท และไปชนเพดานที่ ๕๓ บาท    ผมเขียนจดหมายไปบอกลูกสาวคนโตที่ เป็นหมอฟัน และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ที่อินเดียนาโปลิส ด้วยทุนพ่อแม่ ให้ขอทุนช่วยเหลือ จากมหาวิทยาลัย โชคดีที่ได้  

 ผมถามผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีคนนับถือทั้งเมือง เมื่อราวๆ ปี ๒๕๔๕ ว่าทำไมตอนที่เศรษฐกิจไทย ก่อตัวลูกโป่งอย่างไร้เหตุผล    เห็นชัดว่าสภาพที่กำลังเป็นอยู่มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ มันจะต้องแตกเข้าสักวัน    ทำไมนักการเงิน ซึ่งเป็นคนเก่งจำนวนมากมายจึงไม่ตระหนัก    ท่านบอกว่าเป็นเพราะม่านหมอกมันบังตา    ซึ่งผมตีความว่าเป็นหมอกแห่งกิเลสความโลภ

ผมจำได้ว่า ช่วงที่คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี    มีคนออกมาเตือนสติว่าให้ระวัง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน   โดนท่านนายกรัฐมนตรีว่าเสียไม่มีชิ้นดี  ว่าเป็นการพูดที่บ่อนทำลายชาติ  เทำให้เสียบรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติ   

ผมตีความว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เกิดจากความหละหลวมของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง    ปล่อยให้ ความโลภและความฉ้อฉลออกมาทำงานได้ง่ายดาย     ซึ่งเวลานี้มีการพัฒนาระบบกำกับที่เข้มแข็งมาก    ผมเคย เป็นกรรมการธนาคารอยู่เกือบสิบปี ได้เห็นความเข้มแข็งของ ระบบกำกับตลาดหุ้น และระบบกำกับการเงิน การธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย    และความเข้มแข็ง ของระบบกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์  ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องระบบธรรมาภิบาลองค์กร (governance system)    บทความในบางกอกโพสต์ที่อ้างถึง ได้เปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจ และการเงิน ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง กับในปัจจุบันไว้ดีมาก

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ค. ๖๐

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 13:43 น.