ยุคกุความจริง

วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2017 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณื พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ชีวิตที่พอเพียง : 3030. ยุคกุความจริง

บทความเรื่อง Post-Truth : The Dark Side of the Brain ในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๖๐    บอกว่ายุคนี้เป็นยุค “กุความจริง”    โดยเฉพาะในวงการการเมือง    โดยเขายกตัวอย่างประธานาธิบดี โดแนล ทรัมป์

ทำให้ผมคิดว่า ในเมืองไทยเราก็ใช่ย่อย 

เขาบอกว่าปรากฏการณ์กุความจริงแพร่หลายและนิยมทำกันในยุคนี้ เพราะเทคโนโลยีเอื้ออำนวย (เครือข่ายโซเชี่ยล)   และสมองมนุษย์ก็ร่วมมือด้วย     คือสมองไม่ได้ทำงานอย่างแม่นยำ ยึดข้อมูลหลักฐาน      แต่เต็มไปด้วยอคติ   คือมักจะรับรู้เรื่องราวข่าวสารที่ตรงกับความเชื่อของตนเอง     เขาบอกว่าสมองมนุษย์ ชอบเรื่องราว    ทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง     คนเราจึงชอบอ่านนิทาน หรือนิยาย

นักวิทยาศาสตร์สมอง ทำวิจัยสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI    ขณะอ่านสาระจากโซเชี่ยลมีเดีย    ดูว่าสมองส่วนไหนสว่าง (ทำงาน) สัมพันธ์กับการแชร์หรือไม่แชร์ต่อ   เขาสรุปว่าการแชร์หรือไม่แชร์ข่าว ขึ้นกับว่าคนนั้นคาดหวังปฏิกิริยายอมรับของผู้รับ    ไม่ได้ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของข่าว   

สมองมนุษย์เสพติดการยอมรับ หรือเสพติดความพอใจจากการได้รับการยอมรับ      มากกว่าความน่าเชื่อถือของข่าว  

เพราะธรรมชาติของสมองมนุษย์ต้องการการยอมรับ  และชอบเรื่องราว     ในสมัยเด็กผมจึงได้ยินผู้ใหญ่ พูดว่าเด็กบางคนว่าเป็นคน “ตอแหล”     คือกุเรื่องขึ้นมาพูดเล่าเป็นตุเป็นตะโดยไม่มีความจริงเลย     สมัยนั้นเรา เข้าใจกันว่าเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นนิสัยไม่ดี    มาถึงตอนนี้เราเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะความอ่อนแอของสมอง     ขาดการฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง    ความมั่นคงในคุณธรรม    จึงปล่อยธรรมชาติดั้งเดิมออกมา  

มนุษย์เราก็มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเช่นนี้เอง    การศึกษาที่แท้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านสว่าง  บดบังด้านมืดลงไป

วิจารณ์ พานิช


๓ ต.ค. ๖๐ 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow  โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2017 เวลา 22:31 น.