เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๕. นักศึกษาเรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมกับหุ้นส่วน

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

งานผลิตบัณฑิตในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องดำเนินการโดยยึดหลัก learning sciences (https://en.wikipedia.org/wiki/Learning_sciences)     หรือการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑    รองรับเป้าหมายของการผลิตบัณฑิตที่เปลี่ยนไป    คือผลลัพธ์การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ แตกต่างจากผลลัพธ์การเรียนรู้ในยุคก่อนๆ    เปลี่ยนจากเรียนสาระความรู้ มาเป็นเรียนรู้บูรณาการ ได้ทั้ง ASK (A = Attitude หรือ character, S = Skills, K= Knowledge)   (https://www.gotoknow.org/posts/619014 )    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า ทักษะที่สำคัญที่สุดคือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต


หากจะให้การผลิตบัณฑิตมีส่วนขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ ต้องไม่แค่จัดหลักสูตรตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตเท่านั้น    ต้องใช้หลักการของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่ผู้เรียนต้องเป็นผู้ลงมือกระทำเพื่อการเรียนรู้ของตน    โดยเป็นการลงมือทำในสภาพจริง หรือคล้ายจริงที่สุด    ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกหรือรู้จริง (mastery learning)    


บัณฑิตในศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องมีทั้งความรู้ทฤษฎี และ ความรู้ปฏิบัติ   ต้องมีทักษะการเรียนรู้ ทั้งจากแหล่งความรู้และจากการปฏิบัติงาน และการดำรงชีวิตของตนเอง   และจากปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น   แหล่งปฏิบัติงานของนักศึกษาที่ดีที่สุดคือสถานประกอบการนั่นเอง    ทั้งสถานประกอบการในภาคธุรกิจ  ภาครัฐ  ภาคประชาสังคม  และภาคชีวิตจริงอื่นๆ


การศึกษาในมหาวิทยาลัย ๔.๐ ต้องพัฒนา A.S.K. ดังกล่าวให้งอกงามขึ้นในนักศึกษา    ด้วยมาตรการดังกล่าว   


ในยุคนี้ เป็นที่บ่นกันทั่วไป (อาจกล่าวได้ว่าเกือบทั่วโลก) ว่า สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องการ    บัณฑิตไม่มีทักษะและคุณลักษณะที่ต้องการ    ดังนั้น ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ “การผลิตบัณฑิตแบบหุ้นส่วน”    ซึ่งหมายความว่า มีการร่วมกันคิดกำหนดคุณลักษณะ (characters)  สมรรถนะ (competencies)  และความรู้ (knowledge) ของบัณฑิตที่ต้องการ    ร่วมกันคิดวิธีการจัดการเรียนการฝึกฝน  และวิธีการวัดผลลัพธ์การเรียนที่ต้องการ     แล้วร่วมกันดำเนินการผลิตบัณฑิต และการวัดผล    ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็น engaged curriculum    


ในการประชุม Engage Conference 2017 ไม่มีการกล่าวถึงภาพรวมของหุ้นส่วนการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการผลิตบัณฑิตตามที่กล่าวในย่อหน้าบน    แต่มีการกล่าวถึงในเว็บไซต์มากมาย    ในปี 2011 มีการเผยแพร่เอกสาร  Embedding Public Engagement in the Curriculum: A Framework for the Assessment of Student Learning from Public Engagement   ( https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/assessing_student_learning_from_pe.pdf )       


ทำให้พอจะเดาได้ว่า สหราชอาณาจักรใช้การสร้าง framework เพื่อการประเมินตนเอง สำหรับใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษา    รวมทั้งด้านการเรียนการสอน 


ในเอกสารดังกล่าวรูปที่ ๒ หน้า ๙ ระบุ framework สำหรับประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาจากกิจกรรม PE รวม ๕ ด้านคือ knowledge co-creation, managing engagement, awareness of self and others, communication, และ reflective practice   โดยมีรายละเอียดของแต่ละด้านในตาราง assessment framework ในหน้าถัดไป    โดยการประเมินแต่ละรายการมี ๓ ระดับ   


รายละเอียดในส่วนของ co-creation สะท้อนมุมมองของการเรียนรู้ทฤษฎีจากการปฏิบัติของนักศึกษาในสถานการณ์จริง    ตรงตามหลักของ learning sciences ที่กล่าวแล้ว 


นอกจากนั้น ยังมีเอกสาร DRAFT Attributes Framework for Public Engagement for university staff and students (https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/an_attributes_framework_for_public_engagement_december_2010_0_0.pdf

โปรดสังเกตว่า ทั้งสองเอกสารใช้ปัจจัยหลัก ๓ กลุ่ม (domain) ในการตรวจสอบระดับของ engagement ของอาจารย์และนักศึกษา คือ communication, empathy, และ reflection    ซึ่งผมตีความว่า ปัจจัยหลักทั้งสามกลุ่ม (โปรดดูรายละเอียดของแต่ละกลุ่มในเอกสารต้นฉบับ) เป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเชื่อมมาจากการเปลี่ยน mindset


นอกจากดูภาพในเอกสาร ขอให้ดูตารางบอกประเด็นย่อยของปัจจัยหลักแต่ละกลุ่ม    ที่รายละเอียดจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้กิจการของมหาวิทยาลัย ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม 


จะเห็นว่าวงการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปใกล้ชิดสังคมของสหราชอาณาจักร มองเรื่อง PE อย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้งมาก    และดำเนินการจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบและขั้นตอน   โดยจับที่กลุ่มนักศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงร่วมกับอาจารย์    นักศึกษาไม่ใช่แค่ผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็น “บัณฑิตย์” เท่านั้น   แต่ยังสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ได้ด้วย    ผมตีความว่า หากนักศึกษาได้ร่วมขบานการ PE  และได้ฝึกฝนทักษะ communication, empathy, และ reflection ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสถานการณ์จริง จะช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาสมรรถนะสำคัญหลากหลายด้านที่จำเป็นสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑   โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการบรรลุ transformative learning ในโอกาสข้างหน้า  


เอกสารนี้มีคุณค่ามาก ผมขอเสนอให้ผู้บริหารและสมาชิกในมหาวิทยาลัยทุกระดับอ่านเอกสารนี้อย่างพินิจพิเคราะห์   เพื่อร่วมกัน “redefine what it means to be a university in the 21st century” ตามคำของ Sir Alan Langlands, Chief Executive, HEFCE ที่เอกสารนำมาอ้างถึง

เป้าหมายสำคัญที่สุดสามประการ ต่อการจัดให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากกระบวนการปฏิสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับสังคมคือ (๑) การสร้างจิตสาธารณะ, (๒) การได้มีโอกาสเรียนรู้ในสถานการณ์จริงเพื่อบรรลุการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning)  และ (๓) การได้ฝึกเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ transformative learning 

PE จึงเป็นทั้ง means และ end ในชีวิตของนักศึกษา


ตอนไปเยี่ยมเรียนรู้กิจกรรม PE ของมหาวิทยาลัย UWE ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๐  เขานำเสนอโครงการ PE ที่เขาภูมิใจคือ BGCP (Bristol Green Capital Partnership - http://bristolgreencapital.org)    ที่มีโครงการย่อยจำนวนมากร่วมกันทำให้นครบริสตอลเป็นเมือง “สีเขียว”   ที่เมื่ออ่านรายการโครงการย่อยแล้ว    เขาบอกว่านักศึกษามีบทบาทต่อผลสำเร็จของ BGCP มาก    ผมคิดว่าสามารถจัดให้นักศึกษาเข้าร่วมทำงานเพื่อการเรียนรู้ของตนได้มากมายหลากหลายวิชา โดยอาจารย์ต้องออกแบบการเรียนจากการทำงานแบบบูรณาการวิชา


ในการดูงานที่มหาวิทยาลัยบริสตอล บ่ายวันที่ ๔ ธันวาคม      เขาบอกชัดเจนว่า การทำงานหุ้นส่วนสังคมได้รับการบรรจุ (embed) ในทุกหลักสูตร ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา    รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาทำงานอาสาสมัคร และงานแลกเปลี่ยนความรู้ (knowledge echange) กับภาคี


ทีมงานของมหาวิทยาลัยบริสตอล เสนอโครงการ Student capital : the power of student engagement https://www.bristol2015.co.uk/media/filer_public/6f/d3/6fd3fa25-0041-4c9e-a3dd-ed2b55f07073/bristol_method_student_capital_module_finalml.pdf     ซึ่งทำร่วมกับ UWE ใช้พลังนักศึกษาร่วมทำโครงการ BGCP    ตามในเอกสารบอกว่าตามโครงการ European Green Capital ที่ทำอยู่เดิม นักศึกษามีบทบาทจำกัด    เขาจึงริเริ่มโครงการ Green capital : student capital ขึ้นในปี 2015   ให้นักศึกษาได้มีบทบาททั้งในหลักสูตร และในกิจกรรมนอกหลักสูตรผ่าน Student union ของมหาวิทยาลัยบริสตอล และมหาวิทยาลัยอิงก์แลนด์ตะวันตก    โดย student union ทำงานร่วมกับเมืองและชุมชนท้องถิ่น โดยใช้ทุนจากโครงการ Catalyst ที่ได้จาก HEFCE ในการทำงาน     


เอกสารบอกว่า นครบริสตอลมีนักศึกษาจำนวน ๕ หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของพลเมือง    และมีจุดโอกาสคือ นักศึกษาและอาจารย์จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนของเมืองอยู่แล้ว    รู้จักคุ้นเคยกับแกนนำชุมชนที่ร่วมขับเคลื่อนขบวนการเมืองสีเขียวเป็นอย่างดี   นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมได้หลายช่องทาง ได้แก่ เป็นอาสาสมัคร, มหาวิทยาลัยจัดให้ไปฝึกงาน (ทำงาน) อย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า placement, เข้าทำงานเป็น intern, และทำโครงการ


เป้าหมายของโครงการ มี ๓ ส่วนคือ เพื่อพัฒนาเมือง, เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย (ให้เกิดวัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคม), และเพื่อพัฒนานักศึกษา (ให้มีทักษะทำงานกับภาคีที่หลากหลาย และเกิด transformative learning เน้นที่จิตสาธารณะ)   รายงานนี้ให้ข้อมูลหลักฐานสรุปได้ว่าเกิดผลเกินเป้า    โดยเขาระบุเป้าหมายต่อนักศึกษาเป็นเป้าใหญ่ ๒ ประการ   เป้ารายละเอียด ๕ ประการ    บทบาทสำคัญของนักศึกษาคือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)    ตามในเอกสารหน้า ๑๔ บอกว่า นักศึกษาทำหน้าที่ change maker ในกิจกรรม ๑๑ ประเภท เช่น อาหาร, พลังงาน, ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ, การขนส่ง/การเดินทาง, สุขภาพ  เป็นต้น   รายงานนี้มีกรณีตัวอย่าง ทำให้เห็นว่านักศึกษามีบทบาทอย่างไร


ผมขอเชิญชวนว่า รองอธิการบดี และรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยควรอ่านเอกสารนี้ แล้วจับประเด็นมาเสวนากัน ว่าจะนำหลักการมาใช้ในบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ละมหาวิทยาลัยอย่างไร    


สำหรับประเทศไทย ผมขอเสนอว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตบัณฑิตเพื่อหนุนขบวนการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย ๔.๐ ในสองแนวทางร่วมกันและเสริมกัน คือ (๑) ใช้นักศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐  (๒) จัดการภาพรวมเพื่อให้บัณฑิตมีศักยภาพในการออกไปเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐  



วิจารณ์ พานิช

๒๑ ธ.ค. ๖๐ 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 16:24 น.