ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๘๘. การจัดการ plagiarism

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมเคยเขียนเรื่อง plagiarism ไว้ ที่นี่ บัดนี้ได้โอกาส AAR การกำกับดูแลหลังเกิด plagiarism แล้วในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย  ผมบอกตัวเองว่า “เจอกับตัวเองแล้วจะรู้สึก”

 

เจอในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผมโดนกล่าวหานะครับ  ผมไม่มีประสบการณ์นั้น  ที่จะเล่าเป็นประสบการณ์การดูแลความเป็นธรรมในจัดการพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมด้านจริยธรรมของคนมหาวิทยาลัย

ที่จะเล่านี้เป็นกรณีการลงโทษอาจารย์ที่ถูกกล่าวหาว่า อ้างความเป็นเจ้าของผลงานโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ  และเจ้าตัวก็สารภาพ  โดยที่ข้อบังคับด้านวินัยบุคคลากร บอกว่าความผิดนี้มีสถานเดียว คือผิดวินัยอย่างร้ายแรง  โทษอย่างต่ำคือให้ออกจากงาน

เมื่อเจ้าตัวอุทธรณ์ ว่าโดนลงโทษรุนแรงเกินไป  และกลไกการดูแลการร้องทุกข์มีความเห็นเป็นสองฝ่าย หาข้อยุติไม่ได้  เรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัย ผมก็ได้เรียนรู้เอกลักษณ์คนไทย ว่าเห็นอกเห็นใจคนเป็นพื้นฐาน  ไม่ต้องการลงโทษเด็ดขาดรุนแรง  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น สภามหาวิทยาลัยเคยมีมติผ่านข้อบังคับว่า  หากสอบสวนได้เป็นสัจ ว่ามีการละเมิดคุณธรรมด้านการโจรกรรมทางปัญญา  โทษมีสถานเดียว คือผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ผมจึงได้เรียนรู้ธรรมชาติของคนไทย  ว่าการจัดการ plagiarism ไม่มีวันเหมือนการจัดการของโลกตะวันตกได้  เพราะเรามีความเมตตา และเห็นอกเห็นใจคน สูง  ผมอยากจะบอกว่า ผมรู้สึกว่าเราไม่ยึดถือมาตรฐานจริยธรรมมากนัก  มีคนกล่าวว่า การที่ลงโทษคนนี้รุนแรง  ในขณะที่ยังมีคนทำผิดแบบนี้ แต่เรายังไม่ได้ลงโทษ เพราะไม่มีคนกล่าวโทษ  เป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน  ทำให้ผมเห็นว่า ควรมีการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจวิธีการจัดการการทำผิดเชิงจริยธรรมในสังคมไทย  เพื่อจรรโลงสังคม ให้รังเกียจการทำผิดจริยธรรม   เพื่อป้องปรามการทำผิดเชิงจริยธรรม

เรายังทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความผิดฐานโจรกรรมวิชาการ ในบริบทไทย น้อยเกินไป

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒๑ ก.พ. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/532593