การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๓. หอพักเพื่อการเรียนรู้บูรณาการ

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฏาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๓ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Theme Dorms : Mixing Academics and College Life เขียนโดย Sharon Daloz Parks, Senior Fellow, Whidbey Institute  เล่าเรื่องการพัฒนา นศ. ให้เกิด Transformative Learning โดยการดำเนินการหอพักให้เป็นชุมชนเรียนรู้  ส่งเสริมให้ นศ. สร้างทักษะการรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้ ขึ้นภายในตน

ในเรื่องเล่านี้ ผู้เขียนเล่าย้อนหลังไปสมัยที่ตนเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  ได้เป็นอาจารย์ที่ Whitworth College ซึ่งมีเป้าหมายให้การศึกษาเพื่อให้เป็นคนเต็มคน  และภายใต้ภาวะผู้นำของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ได้จัด theme dorms ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารหอพักสองชั้น ๖ อาคาร  แต่ละอาคารให้ นศ. พักเดี่ยวได้ ๒๒ คน  มีห้องกิจกรรม และครัวเล็กๆ  ในหอพักแต่ละหลัง นศ. ลงเรียนร่วมกันเป็นพิเศษ ๑ รายวิชา (รายวิชาที่เป็น theme ของหอพักนั้น)  ผู้เล่าสอนวิชา Religion and Life ร่วมกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ใน theme dorm “Religion and Life”  โดยผู้เล่ารับผิดชอบวิชาศาสนา  อาจารย์อีกท่านหนึ่งรับผิดชอบวิชาสังคมวิทยา  เป็นการสอนเป็นทีม  โดยสอนตอนบ่าย ๓ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

เป้าหมายของการสอนวิชานี้ ก็เพื่อให้ นศ. เกิดความเป็นประชาคมในกลุ่ม และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  โดยมีเงื่อนไขให้ นศ. ที่มาลงทะเบียนเรียนต้องปฏิบัติ  ได้แก่ ต้องเข้าเรียนทุก session  ต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่จัดในหอสัปดาห์ละครั้ง  โดยที่ นศ. เป็นผู้ร่วมกันกำหนดเองว่าเป็นกิจกรรมอะไร (เช่น ไปปิกนิก  ดูภาพยนตร์ ฯลฯ)

ในตอนต้นเทอม อาจารย์ให้ นศ. ตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร  มีกติกาอะไรบ้าง  โดยอาจารย์ช่วยแนะนำให้ นศ. ประชุมตกลงกันแบบไม่โหวต แต่คุยกันจนได้ฉันทามติ

นอกจากนั้น รายวิชานี้ ดำเนินแบบเดียวกับรายวิชาอื่นๆ  คือ นศ. อ่านเอกสารที่ได้รับมอบหมาย  อาจารย์นำเสนอหน้าชั้น  อภิปราย  การเขียนรายงานประจำเทอม  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นศ. มีการอภิปรายประเด็นที่น่าสนใจกันอย่างสนุกสนาน ได้สาระ จนเลยเวลาเรียนตามปกติ   เหตุผลหนึ่งก็คือ เพราะทุกคนอยู่หอ ในบรรยากาศเดียวกัน

รายวิชานี้ดึงดูด นศ. ที่เรียนดีและตั้งใจเรียนที่สุดเข้าสมัคร  แต่ก็มี นศ. อีกประเภทหนึ่ง ที่ตามปกติไม่สนใจเรียนนัก  แต่เป็นคนที่สมองดีมาก  และมักไม่เข้ากลุ่มพวกตั้งใจเรียน มาลงทะเบียนเข้าเรียนด้วย ด้วยความสนใจว่าที่นี่เขาทำอะไรกัน  สมมติว่า นศ. ประเภทหัวดีไม่ตั้งใจเรียนคนหนึ่งชื่อ จอห์น

เมื่อเรียนไปได้ระยะหนึ่ง จอห์น ก็เปลี่ยนท่าทีที่ห่างเหินจากพวก “เด็กเรียน” มาเข้ากลุ่ม  และร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม (เกิด transformation)

หลายปีต่อมา เมื่อมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นในการเรียนแบบนั้น  จอห์น บอกว่า “Whitworth ต้องการให้ นศ. เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ”  คือเป็น “คนจริง” (real person)

นศ. ในชั้นนั้นอีกคนหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้เป็นอาจารย์ สะท้อนว่า “ใน Religion and Life theme dorm เราสังเกตเห็นกระบวนการที่ จอห์น เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างสิ้นเชิง (transformation)  และเราได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น เกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน”

ที่จริงผลลัพธ์เช่นนี้ ไม่ได้เขียนไว้ในเป้าหมายของรายวิชา  แต่ประสบการณ์นี้ฝังใจและให้ความกระจ่างแจ้งแก่ผู้เล่า  เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูงสุดอย่างหนึ่งตลอดเวลา ๔๐ ปีที่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย  เป็นการค้นพบอิทธิพลของการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนต่อการเรียนรู้  ชนิดที่เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning)  ซึ่งเกิดขึ้นยากจากการเรียนแบบตัวคนเดียว

การเรียนคนเดียวอาจจำเป็นสำหรับการเรียนเพื่อความรู้  แต่การเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตนอย่างรอบด้าน การเรียนที่มีผลเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม  ต้องการการเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นชุมชนเรียนรู้

ชุมชนเรียนรู้ เป็นชุมชนที่ร่วมกันตั้งคำถาม ร่วมกันค้นพบ  หากความสัมพันธ์เป็นกลุ่มหรือชุมชน มีความต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง  จะมีผลต่อการมีทักษะการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (transformative learning) ไปตลอดชีวิต

ผมเองเห็นประโยชน์ของ “ชุมชนเรียนรู้” (learning community) แจ่มแจ้ง  เมื่อทำงานพัฒนาเรื่องการจัดการความรู้  ได้เข้าใจด้านอ่อนของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้”  คือความรู้ฝังลึก(tacit knowledge) ที่เมื่อมีการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว  จะเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก  และเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนบุคลิกคน คือเกิด transformative learning ได้โดยไม่ยากเลย

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541971