เรียนโดยการตีกลอง

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผู้แนะนำเรื่องนี้คือ นพ. อุดม เพชรสังหาร ผมได้ฟังเมื่อวันที่ ๖ ก.ย. ๕๖ ในการประชุม โครงการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่น ๔ ภาค ระยะที่ ๒   ที่มาเสนอเรื่อง หลักสูตรนักถักทอชุมชน จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. นพ. อุดม แนะให้ใช้วงตีกลอง ฝึกการทำงานเป็นทีม   เป็นการเรียนทักษะการทำงานเป็นทีมแบบไม่รู้ตัว

 

ท่านเอาเอกสารวิชาการเรื่องนี้มาให้ผม ๖ ชุด ได้แก่

  1. Synchronized Drumming Enhances Activity in the Caudate and Facilitates Prosocial Commitment – if the Rhythm Comes Easily
  2. “To the beat of a different drum” : improving the social and mental wellbeing of at-risk young people through drumming
  3. Empathy in Musical Interaction
  4. Drumming Up Courage
  5. Recreational music-making alters gene expression pathways in patients with coronary heart disease
  6. Why would musical training benefit the neural encoding of speech? The OPERA hypothesis

 

นี่คือรูปแบบหนึ่งของ ดนตรีบำบัด บำบัดความเกเรหรือพัฒนาเยาวชน   ซึ่งผมคิดว่าเหมาะมากสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีกำลังเหลือมากมาย    วงตีกลองนี้จะมีผลป้อนไปยังสมอง   ทำให้การเรียนภาษาดีขึ้น   ช่วยสร้างการเรียน/ฝึกทักษะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy)    หรือน่าจะจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของ จิตตปัญญาศึกษา ได้

 

ผมได้ทราบเรื่องของคุณ คธา เพิ่มทรัพย์ นักตีกลองทับบล้า (กลองแขก) ซึ่งผมเดาว่า เป็นตระกูลเดียวกับกลองทับของไทยเรานั่นเอง    ทำให้ทราบว่า การตีกลองเป็นการฝึกทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง

 

ที่จริงดนตรี ก็คือเครื่องมือบรรลุการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ    การฟังดนตรีให้ประโยชน์ในทางเพลิดเพลินและฝึกสมอง    แต่เป็นpassive learning การเล่นดนตรีเป็น active learning โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เล่นเป็นวง น่าจะช่วยฝึกสมองหลายด้านทีเดียว    น่าจะเป็นโจทย์วิจัยด้านการเรียนรู้   ได้มากมายหลายคำถามวิจัย    ดังแสดงในเอกสารบางฉบับที่คุณหมออุดมกรุณานำมามอบให้ผม

 

ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2013 เวลา 10:57 น.