ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๘. ไปเจรจาส่งมอบ social investment

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เย็นวันศุกร์ที่ ๒๐ ก.ย. ๕๖ ผมนั่งรถจากกระทรวงสาธารณสุข ฝ่าการจราจรเข้าเมือง ไปที่จุฬาฯ    เพื่อร่วมการประชุมหารือเรื่องมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)   ที่ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. นัดหารือกับคณะกรรมการมูลนิธิ ที่มี ศ. ดร. จอมจิน จันทรสกุลเป็นประธาน มีกรรมการอีก ๕ ท่านรวมทั้งผม   มีคนว่างไปร่วมเพียง ๒ คน คือ อ. จอมจินกับผม

 

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง บวท. ไว้ที่  ซึ่งเป็นกิจกรรมเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว    หลังจากนั้นผมก็ห่างเหิน บวท. ไป    มารู้เรื่องอีกทีก็เมื่อ ประธานคณะกรรมการบริหาร บวท. บ่นว่าทำงานไม่สะดวก    เพราะมีกรรมการ ซ้อนกัน ๒ ชุด   คือคณะกรรมการบริหาร บวท.  กับคณะกรรมการมูลนิธิ    จึงมีการนัดคุยกันในวันนี้

แปลกมากที่ความทรงจำขององค์กร บวท. ไม่ดี    กรรมการบริหารชุดใหม่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไป ของการก่อตั้ง บวท.    ผมต้องเป็นผู้เล่าว่า บวท. เกิดขึ้นจากการริเริ่มชักชวนของ ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี ที่ได้รับเกียรติเชิญเป็นสมาชิกของ NAS (National Academy of Science) ของสหรัฐอเมริกา     เมื่อท่านไปประชุม กลับมา ก็ตื่นเต้นกับการมีองค์กรสำหรับให้นักวิชาการชั้นยอดรวมตัวกันทำประโยชน์แก่บ้านเมือง     ชักชวนพวกเราคบคิดกันตั้ง TAST (Thai Academy of Science and Tecnology) หรือ บวท.

ที่จริง NAS ของสหรัฐ ตั้งขึ้นโดยรัฐออกกฎหมายจัดตั้ง ให้เป็นองค์กรอิสระ รัฐให้เงินดำเนินการ   แล้วยังให้เงินว่าจ้างให้ทำงานตอบคำถามสำคัญๆ ให้แก่ประเทศตลอดมา     แต่ในสภาพของไทย เราไม่รู้จะติดต่อ บอกรัฐบาลอย่างไร    จึงรวมตัวกัน ๒๐ คน ออกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้เงิน ๒ แสนบาท ไปจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ บวท.    ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น    ผมบอกตัวเองว่า ผมลงเงินเป็นsocial investment คือลงทุนเพื่อประโยชน์ของสังคม

เมื่อหารือไปได้ระยะหนึ่ง ผมก็เสนอว่า    บวท. เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งลงทุนตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อ ทำประโยชน์แก่บ้านเมือง    โดยในระยะแรกคนกลุ่มนี้ได้ช่วยกันทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิ หาคนมาทำหน้าที่ กรรมการบริหาร    โดยมูลนิธินี้มีลักษณะพิเศษ คือเฟ้นหาคนที่มีความสำเร็จสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นสมาชิก เพื่อร่วมกันทำงานให้แก่สังคม   เวลาล่วงเลยมา ๑๖ ปี (บวท. เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. ๒๕๔๐) คณะผู้ก่อตั้งต่างก็ร่วงโรยไป    สมาชิกมีความเข้มแข็งขึ้น   น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่คณะผู้ก่อตั้งจะส่งมอบหน้าที่ ดูแลมูลนิธิให้แก่สมาชิก บวท.   ให้เป็นผู้รับผิดดูแลมูลนิธิ    ให้ทำหน้าที่ทำประโยชน์แก่สังคมตามปณิธาน ของการก่อตั้ง

จึงน่าจะได้มีการยกร่างข้อบังคับของมูลนิธิขึ้นใหม่    ให้มีคณะกรรมการบริหาร บวท. คณะเดียว    กำกับการทำงานและการเงินโดยสมาชิกของ บวท. ทั้งหมด

เป็นที่ตกลงกันตามที่ผมเสนอ   โดยจะมีการเวียนหนังสือแจ้งกรรมการมูลนิธิท่านอื่นๆ ด้วย

ผมไปถึงที่ประชุมก่อนเวลา    จึงได้มีโอกาสเดินชมอาคารเก่าคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีอายุ ๙๖ ปี    เป็นอาคารอนุรักษ์    รำลึกความหลังสมัยเรียนอยู่ที่นี่ ระหว่างปี ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕    และได้สังเกตเห็นว่า ต้นพญาสัตบรรณที่นี่ออกดอกตูมแล้ว

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ย. ๕๖

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:53 น.