สกว.จัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย เสนอทางเลือกต้านคอร์รัปชั่น

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=706303076055359&set=a.706302656055401.1073741994.119527331399606&type=3&src=https%3A%2F%2Ffbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net%2Fhphotos-ak-prn2%2F1473006_706303076055359_1316255574_n.jpg&size=782%2C546

(16 ธันวาคม 2556) ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนส นับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานในการเปิดเวทีสาธ ารณะ สกว.: ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น” ณ ห้องประชุม สกว. ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นักวิชาการที่รับทุนจาก สกว. นำเสนอหลักการเหตุผลและข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปประเทศไทย

ศ. นพ.สุทธิพันธ์กล่าวว่า เหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านความสามารถในการแข่งขันและความผาสุกของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่มีความสำคัญคือการออกแบบประเทศโดยอาศัยโครงสร้างอำนาจ จึงต้องกลับมาคิดว่าจำเป็นต้องออกแบบประเทศใหม่หรือไม่ ซึ่งตรงกับโครงการวิจัยของ สกว. ปัญหาใหญ่ของประเทศขณะนี้คือ คอร์รัปชั่น ซึ่งปัจจุบันไทยมีดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศอยู่ที่อันดับ 102 จากเดิมอันดับที่ 88 ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง สิ่งที่ สกว.ต้องการคือ การทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมองข้ามเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเตรียมข้อเสนอที่มีฐานมาจากงานวิจัยและงานวิชาการ เพื่อให้เป็นนโยบายที่มีฐานเข้มแข็งและสามารรถนำไปปฏิบัติได้โดยเกิดผลข้างเคียงน้อย “เราต้องร่วมมือกันจัดทำนโยบายที่ดี และออกแบบประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีระบบทั้งระบบโครงสร้างเชิงอำนาจ โครงสร้างอำนาจ และระบบการกระจายอำนาจ รวมถึงมีการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ได้ผล เพื่อส่งผลให้เกิดความสามารถแข่งขันของประเทศ เราต้องช่วยกันปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยผลผลิตที่เกิดขึ้นจากเวทีนี้ คือ นโยบายที่มีคุณภาพ สกว.จะรวบรวมเป็นเอกสารเสนอต่อคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวทิ้งท้าย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง “ทางเลือกใหม่เพื่อการต้านคอร์รัปชั่น” ว่าคอร์รัปชั่นเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งมีสาหตุส่วนหนึ่งมาจากการต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมอันเนื่องจากคดีคอร์รัปชั่น และการที่ไทยมีดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศตกลงมามากก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง การคอร์รัปชั่นจะเป็นปัญหาทำให้การพัฒนาประเทศไปต่อไม่ได้ อย่างแรกคือจะทำให้การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนต่างชาติที่มีธรรมาภิบาลจะไม่จ่ายใต้โต๊ะ หรือถ้าจ่ายก็จะผ่องถ่ายโดยหาตัวแทนแต่ผลการตอบแทนจะต้ำลง ทำให้การลงทุนจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากจะให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะต้องมีการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลเพื่อลดการคอร์รัปชั่น 

การที่ไม่สามารถลงโทษนักการเมืองระดับสูงในคดีคอร์รัปชั่นได้อย่างที่ควรจะเป็น เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามแม้จะแก้ได้ไม่หมดแต่ก็ทำให้ลดลงได้ เราต้องคิดเชิงระบบไม่ใช่เพียงคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมเพียงอย่างเดียว จึงขอเสนอกรอบความคิดที่เป็นประโยชน์คือ “สมการคอร์รัปชั่น” ของ ศ.โรเบิร์ต คลิตการ์ด ที่สรุปว่าคอร์รัปชั่น = ดุลยพินิจ + การผูกขาด - กลไกความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใส จึงมีข้อเสนอแนะให้ลดดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายเรื่อง เช่น กำหนดกรอบเวลาและจัดทำคู่มือพิจารณาใบอนุญาต อธิบายและเปิดเผยเหตุผลต่อสาธารณะกรณีไม่อนุญาต การจะแก้ปัญหาต้องเปิดเสรีและลดการผูกขาดเศรษฐกิจ เช่น เลิกโควต้านำเข้าสินค้าต่าง ๆ รวมถึงเลิกผูกขาดทางการค้า เช่น การค้าข้าว สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจให้ออกแบบขั้นตอนการอนุญาตเพื่อลดคอร์รัปชั่น รวมถึงให้องค์กรแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ และควรให้การฟ้องร้องคดีสู่ศาลควรให้ผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง นอกจากนี้ยังควรแก้ไข
กฎหมายข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐมากขึ้น เปิดให้สังคมเข้าตรวจสอบ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรมในโครงการขนาดใหญ่ แก้กฎหมายให้คดีคอรัปชั่นไม่มีอายุความ และให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD ทั้งนี้การจะหวังให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่นเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีกลไกสร้างความเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่มีกลไกตรวจสอบ “ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังจัดทำคู่มือประชาชนในการต้านคอร์รัปชั่น โดยจะเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และจัดพิมพ์แจกประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกลไกการเกิดคอร์รัปชั่น ผลเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ตลอดจนให้ประชาชนช่วยกันจับตาและมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดคอร์รัปชั่นในประเทศไทย”

ขณะที่ ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คอร์รัปชั่นแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ 1. ภาคราชการ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะข้าราชการเป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ 2. ภาคการเมือง มักเป็นการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจและนักการเมือง โดยมีวงเงินค่อนข้างสูง จากการสำรวจทั่วประเทศในปี 2543 พบว่าร้อยละ 10 ของครัวเรือนทั่วประเทศต้องจ่ายเงินเมื่อไปติดต่อราชการ และมีการกระจุกตัวของการคอร์รัปชั่นในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสูง อาทิ ตำรวจ ที่ดิน สรรพากร และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 จะทำการสำรวจซ้ำทั่วประเทศอีกครั้งจำนวน 6,000 ครัวเรือน โดยการสนับสุนนของ สกว. เพื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงการซื้อเสียงด้วย 

การคอร์รัปชั่นทางการเมืองยากจะแก้ไขเพราะเกี่ยวโยงกับขบวนการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีการจ่ายสินบนหรือใช้ตำแหน่งอิทธิพลในการเข้าถึงสัมปทานหรือใบอนุญาตในการเข้าถึงทรัพยากรหายาก เช่น ที่ดินสาธารณะ หรือทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ เช่น เหมืองแร่ ดาวเทียม โครงการขนาดใหญ่ทางด้านสาธารณูปโภค วงเงินที่เกี่ยวข้องมีอัตราสูง ทำให้เป็นแรงจูงใจให้บุคคลที่เกี่ยวข้องแสวงหากำไรที่เกินปกติ และพบว่าถ้านักการเมืองหรือนักธุรกิจรวมถึงข้าราชการเข้าไปในวงจรจะมีครอบครัวเศรษฐีได้หลายชั่วอายุคน แม้ในปี 2544 จะมีการก่อตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ทำให้องค์กรมีเขี้ยวเล็บมากขึ้นและดำเนินคดีกับนักการเมืองได้ แต่ก็น่าจะทำได้มากกว่านี้ เช่น กรณีจำนำข้าวยังเอาผิดใครไม่ได้

ศ. ดร.ผาสุกได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างการต้านคอร์รัปชั่นในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในระดับนานาชาติ ภายหลังการจัดตั้งองค์กรกำจัดคอร์รัปชั่นของอินโด (KPK) ในปี 2002 ที่มีกรณีสืบสวนสอบสวน 236 คดีในเวลา 10 ปี ทุกคดีประสบความสำเร็จ จับกุมข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ส.ส. ซีอีโอ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงประมาณ 400 คน จึงน่าจะนำมาเป็นกรณีศึกษาของไทยในการมีศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมืองเป็นกรณีเฉพาะ รวมถึงการมีองค์กรภาคประชาชนและสื่อเป็นมิตรที่สำคัญของ KPK “แม้คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่แก้ยาก แต่จากประสบการณ์ของอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่าสามารถทำได้ถ้ามีการปรับปรุงหน่วยงานคอร์รัปชั่น และได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและรัฐบาล ทั้งนี้อยากเสนอให้มีการจัดตั้งศาลคดีคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ น่าจะเป็นไปได้ในประเทศไทยเพราะขณะนี้กระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นสูงมาก และสามารถใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงได้ สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียที่เกิดหลังวิกฤติเศรษฐกิจและประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต”
แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 12:56 น.