การพัฒนาการศึกษากับการวิจัย ในวิชาชีพเภสัชกรรม

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

การพัฒนาการศึกษากับการวิจัย ในวิชาชีพเภสัชกรรม[1]

 

วิจารณ์ พานิช

...............

 

เภสัชกรรมเป็นวิชาชีพ  ซึ่งหมายความว่าเป็นวงการที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญชั้นสูง   ผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้นจริงจัง    จนได้รับการยอมรับว่ามีความรู้ความชำนาญเพียงพอ   มีกระบวนการควบคุมกำกับการศึกษาและฝึกฝน   รวมทั้งมีการควบคุมกำกับจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ โดยกลไกของวิชาชีพเอง หรือโดยผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน    ที่เรียกว่า self-regulation ด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ และกระบวนการตรวจสอบของสภาวิชาชีพ

ความท้าทายของวงการวิชาชีพในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพลิกผัน ของสังคม   และความรู้หรือวิชาการด้านต่างๆ งอกงามเพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว    ความรู้เดิมที่มีหรือยึดถืออยู่หลายส่วนกลายเป็นความรู้ที่เก่า หรือผิด    ทำให้หากไม่ระวัง กลไกกำกับวิชาชีพ จะกลายเป็นอนุรักษ์นิยมที่ยึดถือแนวทางเก่า ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น ยิ่งนับวันเรื่องต่างๆ ในโลก ยิ่งมีความซับซ้อน (complex) มีหลายชั้นหลายมิติ มองได้หลายมุม   เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างหนึ่งคือความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ที่นำไปสู่การพัฒนายาที่มีคุณภาพสูง  เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ    แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความท้าทายต่อระบบยาของประเทศ   ที่หากมีการจัดระบบให้ดี มีข้อมูลและความรู้ประกอบการตัดสินใจ และการพัฒนาต่อเนื่อง จะมีคุณประโยชน์ต่อผู้คนในบ้านเมืองมาก   แต่หากจัดระบบไม่เป็น ตกอยู่ใต้การโฆษณาหรืออิทธิพลของบริษัทยาข้ามชาติ ที่กำหนดราคายาตามความพอใจของตน   ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศจะสูงจนกลายเป็นปัญหาหนึ่งของระบบสาธารณสุข

เล่ห์กลและการทำผิดกฎหมายของบริษัทยามีผู้เขียนไว้มากมาย เช่น http://www.gotoknow.org/posts/493901 และหนังสือกระชากธุรกิจยาข้ามชาติโดยวิชัย โชควิวัฒน์ (๒๕๔๙)

การศึกษา และการวิจัยในวิชาชีพเภสัชกรรมในยุคศตวรรษที่ ๒๑ จึงมีประเด็นท้าทายที่แตกต่างไปจากการศึกษาและการวิจัยในวิชาชีพเภสัชกรรมยุคก่อนๆ   ความแตกต่างพื้นฐานที่สุดคือ ยุคก่อนขาดแคลนความรู้และเทคโนโลยี   แต่ยุคปัจจุบันและอนาคต มีความรู้และเทคโนโลยีมาก   ตลาดยาและเภสัชภัณฑ์เป็นตลาดที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก   เป็นความท้าทายให้วงการเภสัชกรรมต้องมีสติปัญญาในการเลือกใช้ให้เหมาะสมต่อสังคมและบ้านเมืองของตนเอง

ตัวอย่างของประเทศยากจนและเป็นประเทศเล็ก ที่ระบบการผลิตด้านเภสัชกรรมแตกต่างจากของเราโดยสิ้นเชิง   คือคิวบา   ที่มีความสามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพดีขึ้นใช้เองภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้   ทำให้ประชาชนได้รับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดี    ที่เรียกว่า สุขภาพดีในราคาต่ำ (Good health at low cost.)

การศึกษาในปัจจุบันไม่ว่าในสาขาใด ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อให้ได้ความรู้อย่างในอดีต   แต่ต้องเลยไปสู่การฝึกฝนใช้ความรู้ เกิดทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่างๆ   โดยที่ส่วนของการเรียนทฤษฎีอาจารย์ไม่ต้องสอนแบบบรรยายอย่างในอดีต   นิสิตนักศึกษาสามารถค้นคว้าเรียนเองได้   อาจารย์ใช้เวลาที่มีค่าของตนให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ที่สุด   โดยร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อนิสิตนักศึกษากลุ่มนั้น   ทั้งนี้หมายความว่า ทีมอาจารย์ต้องดำเนินการทดสอบพื้นความรู้ของศิษย์ในชั้นเรียนของตน   สำหรับนำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้

การเรียนรู้ส่วนที่อาจารย์มีคุณค่าต่อศิษย์ส่วนถัดมา คือการที่อาจารย์ทำหน้าที่โค้ชต่อการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ของศิษย์ ในกิจกรรมที่ทีมอาจารย์ช่วยกันออกแบบ    การทำหน้าที่โค้ชนี้มีเทคนิครายละเอียดมากมาย   หลักการที่สำคัญคือนิสิตนักศึกษาต้องได้ฝึกทำโจทย์ หรือโครงงานที่ยากพอเหมาะ   โค้ชคอยแนะนำให้กำลังใจให้สู้ความยาก และให้คำชมเมื่อมีความสำเร็จเล็กๆ เกิดขึ้น   รวมทั้งเมื่องานสำเร็จ ชวนศิษย์ทบทวนประเด็นเรียนรู้ร่วมกัน   ทำให้เข้าใจทฤษฎีหรือเนื้อวิชาแจ่มชัดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

คุณค่าส่วนที่สามของอาจารย์ต่อศิษย์ คือการประเมิน   อาจารย์ต้องคอยประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์แต่ละคนอยู่ตลอดเวลา    สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำหน้าที่โค้ช ดูแลช่วยเหลือการเรียนรู้ของศิษย์เป็นรายคน    ที่เรียกว่า การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Evaluation)   การประเมินแบบนี้สำคัญกว่าการประเมินเพื่อตัดสินได้-ตก (Summative Evaluation)

ดังนั้นวงการวิชาชีพเภสัชกรรมควรเอาใจใส่ปฏิรูปการเรียนรู้ของวิชาชีพเภสัชกรรม    ให้เป็น Transformative Education  และมีการฝึกฝนทักษะทั้งด้านวิชาชีพ และด้านการทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น ในระบบบริการสุขภาพ เป็น ทีมสุขภาพ (Health Team)    ตามคำแนะนำในรายงานของคณะกรรมาธิการอิสระ ชื่อ Education of Health Professional for the 21st Century (http://www.healthprofessionals21.org/index.php/2-the-report)    โดยที่แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ อ่านได้จากหนังสือ การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑ (http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=881)    และอ่านเรื่องความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ได้ ในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร(http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=880)

 

ในด้านการวิจัย วงการวิชาชีพเภสัชกรรมไทยควรเน้นการวิจัย ๔ ด้านคือ

๑. การวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ ด้านเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์    เพื่อนำไปสู่การพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์    และเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานด้านเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์

๒.การวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยาในการรักษาโรคต่างๆ    รวมทั้งการวิจัยเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของยาที่มีชื่อสามัญเดียวกัน แต่มีชื่อทางการค้าต่างกัน    และรวมทั้งการวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาสมุนไพรที่ผลิตภายในประเทศ

๓. การวิจัยระบบยาของประเทศไทย   เพื่อให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม    ไม่เป็นภาระด้านการเงินหรือเศรษฐกิจของประเทศอย่างไมาสมเหตุสมผล    และเพื่อให้สังคมไทยรู้เท่าทันการทำธุริจอย่างไม่มีจริยธรรมของบริษัทยาข้ามชาติ

๔. การวิจัยด้านการศึกษาเภสัชศาสตร์

 

……………………..

 

 

 

[1] เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง การพัฒนาการศึกษาและการวิจัยในอนาคตกับวิชาชีพเภสัชกรรม    เนื่องในงานสมัชชาเภสัชกรรมไทย ๑๐๐ ปี   วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖  ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 14:50 น.