ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๖๗. สารภาพความเข้าใจผิด

วันศุกร์ที่ 03 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ระหว่างนั่งเครื่องบิน เอมิเรตส์ กลับจาก Sao Paulo บราซิล ไป ดูไบ วันที่ ๑๒ พ.ย. ๕๖    ผมทดลองใช้เครื่องให้ความเพลิดเพลินในเครื่องบินชั้นธุรกิจ   ซึ่งมีจอทีวีสัมผัสขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้า (ด้านหลังพนักพิงที่นั่งข้างหน้า)    ผมทดลองเลือกสิ่งให้ความเพลิดเพลินหลายอย่าง    แต่มาเลือกฟังเพลงร้องสมัยเก่าเป็นหลัก

เพลงชุดแรกเป็นของ แฟรงค์ สินาตรา    ชุดที่ ๒ เป็นของ Ray Charles – The Genius of Ray Charles  ซึ่งผมไม่เคยรู้จัก    แต่ฟังตอนนี้รู้สึกว่าเพราะ

เพลงแบบนี้สมัยก่อนผมรู้สึกว่าหนวกหู    แต่ตอนอายุมากขึ้นผมฝึกตนเองให้รู้จักความไพเราะหรือความงามของศิลปะด้านต่างๆ  ที่คนเขาว่าดี   คล้ายๆ เรียนวิชา Art Appreciation ด้วยตนเอง    ทำความเข้าใจว่าศิลปะมันมีบริบทเรื่องราวที่มาที่ไปตามยุคสมัย

สมัยผมเริ่มหนุ่มเป็นยุคเพลงร็อค    และเอลวิส พริสลีย์ กำลังดัง    เด็กหนุ่มสาวคลั่งใคล้และเลียนแบบ    มีคนตัดผมทรงเดียวกัน    ร้องเพลงและแสดงท่าทางเลียนแบบ     ผมบอกตัวเองให้ห่างจากเรื่องพวกนี้ กลัวตนเองจะเสียคน    และไม่อยากเสียเวลาเรียนไปกับ เรื่องไม่เป็นเรื่อง”    คือผมหลงปฏิเสธศิลปะแทบทุกชนิด    มองด้านลบ    ว่ามันเป็นสิ่งเย้ายวนให้หลงใหล    ทำให้ชีวิตไปในทางเสื่อม    ไม่มีเวลาเอาจริงเอาจังกับวิชาการ

สมัยอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อนคนหนึ่งซึ่งมาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เตือนผมว่า “All work and no play makes Jack a dull boy.”   ซึ่งก็น่าจะมีส่วนจริง

ความเข้าใจผิดที่รุนแรงคือเรื่องเล่นดนตรี    ผมเคยฝึกเป่าขลุ่ยด้วยตนเอง (ขลุ่ยไม้ไผ่) และซื้อหีบเพลงปากมาหัดเป่าเป็นเพลง    แต่ไม่ได้เอาจริงเอาจัง    ไม่มีใครฝึกให้    แล้วก็เบื่อไปเอง    ทำให้ในภาพรวมของชีวิต ผมเป็นคน บอดเกือบสนิท” ในด้านศิลปะ   ซึ่งที่จริงแล้วมันเป็นอีกภาษาหนึ่งของชีวิต    เมื่อแก่พอมีเวลาบ้างผมจึงชดเชยด้วยการเอาใจใส่สังเกตความงาม ความไพเราะ   และการประเทืองอารมณ์สุนทรีย์ด้วยศิลปะ

เปิดเปลี่ยนอัลบั้มไปเรื่อยๆ พบ Mike Oldfield – Tubular Bells  เป็นเครื่องดนตรีรูปร่างแปลก   เขามีคำอธิบายเกิดขึ้นในปี1973  ผมฟังแล้วไม่ชอบ หนวกหู ไม่มีเสียงทุ้มให้

เปิดต่อไปพบ Elton John – Goodbye Yellow Brick Road 1973   มารู้จักชื่อของเขาเมื่อไม่กี่ปี   แสดงความแคบของผม    ในคำอธิบายเอ่ยชื่อเพลง Candle in the Wind ว่าเป็นเพลงยอดนิยม    ผมลองฟังแล้วไม่ชอบเพลงประเภทนี้

เปิดไปที่เพลงคลาสสิค    เริ่มฟังเพลงของโมสาร์ท โอ้โฮชอบ    ฟังแล้วสบายหู  ให้ความสดชื่น

เรื่องเพลง หรือศิลปะนี้    ผมเคยมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งสมัยเรียนแพทย์ ชื่อชวลิต ภัทราชัย    เสียชีวิตไปกว่าสิบปีแล้ว    เขาเป็นคนกรุงเทพ  เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ    ชอบดนตรี (เล่นหีบเพลงปาก)    ชอบฟังเพลง    ตอนเขาไปอยู่ที่อเมริกา เขาส่งเทปเพลงที่สะสมไว้มาให้ผมบ่อยๆ    ช่วยให้ผมได้รู้จักเพลงประเภทต่างๆ    ผมเลือกฟังเพลงที่ชอบ

เครื่องอำนวยความเพลิดเพลินบนเครื่องบิน Airbus 777-300 ของสายการบิน เอมิเรตส์ นี้ ใช้สะดวกมาก   เป็น touch screen  จอใหญ่ ขนาดราวๆ 18 นิ้ว จนทำให้ใจผมใคร่ครวญชีวิตของตนเอง    ว่ามีความเข้าใจผิดอยู่มากในสมัยเด็กๆ    มีอคติต่อสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่การเรียนและงานโดยตรง    ทำให้ชีวิตไม่ผ่อนคลาย    มาปรับปรุงตอนแก่ ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง    ไม่ได้มากกว่าได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.๕๖

บนเครื่องบินจาก เซา เปาโล ไปดูไบ

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 03 มกราคม 2014 เวลา 09:04 น.