คารวะครูคำนึง คงศรี ครูเพื่อศิษย์แห่งโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม สมุทรสาคร

วันอังคารที่ 07 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เป็นบุญของผม ที่วันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๖ ช่วงเช้า ผมตัดสินใจไปเยี่ยมชมโรงเรียนชั้นประถมตามที่ รศ. ดร. พิณทิพ รื่นวงษา แนะนำ

บันทึกนี้ ต้องอ่านต่อเนื่องจากบันทึกที่แล้ว เมื่อวันที่ ๓ ม.ค. ๕๗ นะครับ    คืออยู่ในกิจกรรมของการประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทาง โครงการ Teacher Coaching (TC)  ซึ่งประชุมกันที่จังหวัดสมุทรสาคร    และถือโอกาสไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนในโครงการ

จังหวัด  สมุทรสาคร อยู่ในพื้นที่ดำเนินการโครงการ TC ของทีม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล    ช่วงเช้าวันที่ ๒๕ พ.ย. ๕๖ มีการกำหนดให้แยกย้ายกันไปเยี่ยมชมโรงเรียน ๒ โรงเรียน    และ ดร. พิณทิพ หัวหน้าโครงการของ ม. มหิดล แนะนำให้ผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม อำเภอกระทุ่มแบน   เพื่อชมกิจการของการเรียนการสอนชั้นประถม    แม้โรงเรียนนี้จะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม. ๖

ทำให้ผมมีบุญ ได้ชมวิธีการสอนภาษาไทย ของครูคำนึง คงศรี ชั้น ป. ๒/๒ ด้วยวิธี “สอนแบบไม่สอน”    หรือวิธีสอนแบบตั้งคำถาม    ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่อง สระ เ-ิอ อีกด้วย

มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือการสอนให้นักเรียนคิด    ไม่ใช่สอนให้ท่องจำ

เมื่อเดินผ่านห้องเรียนห้องอื่น ผมนึกในใจว่า เขาจัดแถวโต๊ะเรียนแบบ classroom ซึ่งไม่ตรงกับ 21st Century Learning    แต่เมื่อเข้าไปในห้อง ป. ๒/๒   สัมผัสแรกคือ “นี่คือห้องเรียนแบบ สตูดิโอ อย่างง่าย    ไม่ต้องลงทุนใหม่เลย”

เราไม่ได้รับคำอธิบายล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะมีการสาธิตวิธีจัดการเรียนรู้แบบครูตั้งคำถาม

เทวดาดลใจ ให้ผมไปยึดชัยภูมิที่เก้าอี้หลังห้อง    สังเกตการณ์พร้อมถ่ายรูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในห้องเรียน ป. ๒/๒   ในวิชาภาษาไทย สอนโดยครูสาวคนหนึ่ง ที่ผมทราบภายหลังว่า ชื่อครูคำนึง คงศรี ครูอัตราจ้างของ อบจ. สมุทรสงคราม (รร. บ้านปล่องเหลี่ยม ย้ายมาสังกัด อบจ. สมุทรสงคราม)

ครูคำนึง สอนโดยใช้กระดาษแผ่นภาพที่เตรียมมาอย่างดี เป็นอุปกรณ์การสอน หรือการเรียนรู้    โดยสอนเรื่อง สระ เ-ิอ

เริ่มจากให้นักเรียนดูแผ่นภาพหนูบนก้อนเนย    ถามนักเรียนว่าเห็นอะไรบ้าง บางคนว่าเห็นหนู    “เห็นอะไรอีก” เห็นเนย   “ใครเขียนคำว่าเนยได้บ้าง”  นักเรียนยกมือกันสลอนและตื่นเต้นเพราะอยากเป็นคนออกไปเขียนที่กระดานขาว    ครูคำนึงชี้และเอ่ยชื่อ ให้นักเรียนคนหนึ่งออกไปเขียน   เมื่อเขียนถูกก็ได้รับรางวัลเป็นท้อฟฟี่หนึ่งก้อน

ครูคำนึงยกป้ายรูปเด็กเดิน  รูปงานวันเกิด  รูปกะปิหรือเคย  รูปธนบัตรหรือเงิน  รูปใบเตยทั้งที่เป็นต้นไม้และที่เป็นดารา    แล้วให้นักเรียนเขียนคำว่า เดิน เกิด เคย เงิน เตย ลงบนกระดานขาวข้างรูปแต่ละรูป    เมื่อยกรูปออกไป เหลือแต่คำ เดิน เกิด เคย เงิน เตย   ครูคำนึงก็ตั้งคำถามให้นักเรียนเรียนรู้สระ เ-ิอ   ให้รู้ว่าสระเ-ิอ มีสระ - ิ อยู่ข้างบน   แต่มีข้อยกเว้น หากสระ เ-ิอ มีตัว ย สะกด จะมีการลดรูป สระ -ิ หายไป

เป็นบรรยากาศการเรียนที่นักเรียนสนุก ตื่นตาตื่นใจ   เห็นได้จากแววตาของนักเรียนในชั้น   เห็น student engagement ต่อกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน

ผมยิ่งตื่นตาตื่นใจ เมื่อครูคำนึงบอกให้นักเรียนแต่ละคนนึกคำที่มีสระ เ-ิอ ไว้    ใครนึกไม่ออกให้ปรึกษาเพื่อในกลุ่ม    แล้วแจกกระดาษแก่นักเรียน ให้เขียนคำที่มีสระ เ-ิอ ที่ตนนึกไว้   เอามาเขียนบอกเพื่อนในชั้น    ถึงตอนนี้เวลาล่วงเลยไปมาก เราโดนตามให้ไปขึ้นรถกลับเพื่อไปประชุมต่อ ที่โรงแรม เซ็นทรัล เพลส

ผม AAR กับตัวเอง   ว่าผมได้ไปพบ ครูเพื่อศิษย์ ที่มีวิธี “สอนแบบไม่สอน”    คือสอนแบบตั้งคำถาม ให้นักเรียนได้ฝึกการคิด อยู่ตลอดเวลา    ซึ่งตรงกับ 21st Century Learning

ก่อนออกจากห้อง ป. ๒/๒ ผมกระซิบถามครูคำนึง ว่าเอาวิธีสอนแบบนี้มาจากไหน   เธอบอกว่าคิดขึ้นเอง    สอนแบบนี้มา ๑๒ ปีแล้ว

ผมไปถาม ผอ. โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม   ผอ. อุเทน เมืองท่าไม้ ว่าครูคำนึงได้ค่าตอบแทนเท่าไร   ท่านบอกว่า เป็นครูอัตราจ้างของ อบจ. เงินเดือนคงที่ ๑๕,๐๐๐ บาท    ย้ายมาอยู่ที่นี่ ๔ ปี  โดยย้ายมาจากโรงเรียนเอกชน

ผมให้ความเห็นไปว่า ควรไปบอกทาง อบจ. สมุทรสงคราม ให้หาทางเพิ่มค่าตอบแทนแก่ครูคำนึง ให้เหมาะสมตามความสามารถ    มิฉนั้นจะโดนแย่งตัวไปเสีย    ท่าน ผอ. อุเทน บอกว่า ท่านก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ว่าจะเสียครูคำนึงไป เพราะค่าตอบแทนไม่ดึงดูดพอ

ผมจงใจนำเรื่องครูคำนึงมาเล่า    เพื่อจะบอกว่า ครูที่มีความสามารถขนาดนี้ ดีกว่าครู คศ. ๓ ที่ผลการประเมินนักเรียนตกเป็นส่วนใหญ่    ครูคำนึงจึงควรได้ค่าตอบแทนเท่ากับครู คศ. ๓   หากระบบค่าตอบแทนของ อบจ. สมุทรสาครไม่ล้าหลังติดกรอบราชการ

แต่ถ้า อบจ. สมุทรสาคร ไม่สนใจ   ผมก็ยุให้โรงเรียนเอกชนไปแย่งตัวครูคำนึง เพื่อเป็นการให้คุณค่าครูเพื่อศิษย์    ในขณะที่ระบบราชการแข็งตัวเกินไป

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๕๖

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 07 มกราคม 2014 เวลา 09:09 น.