สารแสดงความยินดี เนื่องในโอกาส “ครึ่งศตวรรษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล”

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

สารแสดงความยินดี

เนื่องในโอกาส ครึ่งศตวรรษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

วิจารณ์ พานิช

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

.................

 

 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ผมข้ามฟากมาเรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (มีคำว่า และ)  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์    ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์    สังกัดกระทรวงสาธารณสุข    มีศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง เป็นผู้บัญชาการกรม    การเรียนในปีที่ ๑ ที่ศิริราช เรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและชีวเคมี เป็นหลัก    และมีนักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของพวกเราที่จุฬาฯ มาเรียนด้วย ๒ - ๓ คน   คนหนึ่งคือ รศ. ดร. ประณีต ผ่องแผ้ว แห่งคณะเวชศาสตร์เขตร้อน

แสดงว่าหลักสูตรบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล) นั้น    มีมาก่อนตั้งบัณฑิตวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗

อาจารย์ของพวกเราในตอนนั้น จำนวนหนึ่งได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เอง    โดยไม่มีการเรียนรายวิชา มีแต่การเสนอวิทยานิพนธ์    ที่ผมใกล้ชิดคือ วิทยานิพนธ์ของศาสตราจารย์แพทย์หญิง คุณสุภา ณ นคร    เป็นผลงานวิจัยเกี่ยวกับ ฮีโมโกลบิน อี    ตอนทำงานที่ตึกอานันทราช ผมเคยเปิดดูบ่อยๆ    เป็นประวัติศาสตร์ของบัณฑิตศึกษาในประเทศไทย ที่ย้อนหลังไปก่อนมีการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย คงจะไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี

เมื่อผมเรียนจบปริญญาโท สาขามนุษยพันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กลับมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ได้บรรจุเข้ารับราชการที่บัณฑิตวิทยาลัย    แต่ทำงานที่สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล    โดยในขณะนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ สกุลไทย์ ดำรงตำแหน่งคณบดีผู้ก่อตั้ง     ท่านบอกให้ผมไปเซ็นชื่อในสมุดเซ็นชื่อมาทำงานของบัณฑิตวิทยาลัย (ขณะนั้นอยู่ที่อาคารสองชั้นหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ด้านหลังตึกอำนวยการของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปัจจุบัน) ทุกวัน    ผมไปเซ็นชื่อเป็นคนแรกทุกเช้า เวลาประมาณ ๗ น. เป็นเวลาสองสามปี    ท่านคงจะมั่นใจว่าผมไม่เหลวไหลอู้งานหรือเบี้ยวงานแน่ จึงบอกผมให้ไม่ต้องเซ็นชื่อมาทำงานอีกต่อไป

ต่อมา คงจะประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านคณบดี ศ. นพ. สวัสดิ์ บอกผมว่า บัณฑิตวิทยาลัยต้องมีเลขานุการคณะ และขอตั้งให้ผมทำหน้าที่นี้    ผมเรียนถามท่านว่า ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง    ท่านบอกว่า มีงานประจำอย่างเดียวคือเซ็นค่าสอนพิเศษ    เจ้าหน้าที่เขาส่งเอกสารมาให้เซ็นก็เซ็นไป    ผมจึงเป็นเลขานุการคณะที่ไม่เคยมีโต๊ะนั่งทำงานที่บัณฑิตวิทยาลัย    เจ้าหน้าที่เขาส่งเอกสารไปให้เซ็นที่ ตึกอานันทราช

คงจะเพราะผมมีตำแหน่งเลขานุการบัณฑิตวิทยาลัย    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มีดำริจัดตั้ง “ศูนย์ศาลายา”   มีการแต่งตั้งคณะทำงานวางแผนแม่บทพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา (ชื่ออาจคลาดเคลื่อน เพราะเขียนจากความจำ)  มี ศ. นพ. กษาณ จาติกวนิช รองอธิการบดี เป็นประธาน   ศ. นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย์ เป็นรองประธาน   กรรมการเท่าที่จำได้มี ศ. ดร. กำจร มนุญปิจุ, ศ. ดร. อมร รักษาสัตย์, ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ, ศ. นพ. ประเวศ วะสี    จำได้ว่าครั้งหนึ่งคณะกรรมการนั่งรถไฟไปกราบนมัสการท่านพุทธทาสที่สวนโมกขพลาราม ไชยา    เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการจัดการศึกษามหาวิทยาลัย    สมัยนั้นยังไม่มีทางหลวงสายเอเซียที่ตัดผ่านหน้าวัด    เราไปถึงไชยาประมาณตีสี่    พี่ศิริ พานิช ว่าจ้างรถรับจ้างสองแถวมารับที่สถานีรถไฟไชยา พาไปสวนโมกข์ทันที    ไปถึงท่านพุทธทาสนั่งอยู่ที่หน้ากุฏิอยู่แล้ว    โดยท่านนั่งสัปหงก เราไปถึงสักครู่ท่านก็ลืมตาขึ้น    และ ศ. นพ. สวัสดิ์ ก็เริ่มต้นถามท่านทันที    สาระคำแนะนำของท่านก็คือ การศึกษาต้องมีส่วนของการลดละความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่พอกพูนกิเลส    คือต้องเรียนรู้ด้านในหรือด้านจิตวิญญาณด้วย    อีกกว่า ๔๐ ปีให้หลัง มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีศูนย์จิตตปัญญาศึกษา

เราโดยสารรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องนอนแยกเป็นห้องๆ กลับกรุงเทพในคืนนั้น    โดยตอนเย็นได้ไปกินอาหารทะเลที่พุมเรียง   และ ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ ซื้อปูทะเลมาเข่งใหญ่เอากลับกรุงเทพ    ตกกลางคืนมีปูหลุดออกมาคลานในตู้รถไฟ    มีคนแซวว่าไปวัดแต่กลับทำบาปซื้อปูมากิน    เข้าใจว่าคนแซวคือ ศ. ดร. กำจร มนุญปิจุ

เกร็ดประวัติศาสตร์เหล่านี้หากไม่บันทึกไว้ ต่อไปจะสูญหายไป    จึงถือโอกาสนำมาเล่าไว้ในหนังสือเฉลิมฉลองครึ่งศตวรรษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

ในช่วงเวลา ๕๐ ปี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างคุณูปการให้แก่วงวิชาการของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง    ไม่ใช่แค่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น    โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีหลักสูตรปริญญาเอกรวมทั้งสิ้น ๖๘ หลักสูตร  เป็นหลักสูตรนานาชาติ ๕๖ หลักสูตร    มีหลักสูตรปริญญาโท ๑๕๕ หลักสูตร   เป็นหลักสูตรนานาชาติ ๗๑ หลักสูตร    นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ๕ หลักสูตร และ ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ๔ หลักสูตร (ข้อมูล สภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๔๗๘ เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย. ๒๕๕๖)   ที่สำคัญคือ เป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพสูง    และสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดนโยบายด้านบัณฑิตศึกษาไว้อย่างชัดเจนว่า    ไม่มีนโยบายเปิดหลักสูตรเพื่อหารายได้เป็นเป้าหมายหลัก    จึงไม่สนับสนุนให้เปิดหลักสูตรพิเศษ ชนิดเรียนไม่เต็มเวลา    หากจะเปิดหลักสูตรชนิดเรียนไม่เต็มเวลา จะต้องมีเหตุผลพิเศษ ที่ไม่ใช่เพื่อการหารายได้

ที่ผ่านมาบัณฑิตวิทยาลัย ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการเพื่อสร้างเสริมคุณภาพ ของบัณฑิตศึกษา ในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง

เนื่องในโอกาสฉลองครึ่งศตวรรษ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล    ผมขอแสดงความยินดี  ความชื่นชม และเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ และความเอาใจใส่มานะพยายาม ยกระดับคุณภาพ ของผลงานด้านบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ สังคมไทย และต่อโลก ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2014 เวลา 21:29 น.