คำนิยมหนังสือ “พลิกฟื้นประเทศไทย”

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คำนิยม

หนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทย (Repositioning Thailand)

วิจารณ์ พานิช

..........

 

ผมได้รับต้นฉบับหนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทยเพื่อขอให้เขียนคำนิยมในเวลากระชั้นชิด   โดยที่ในตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะเขียนให้ได้หรือไม่    แต่เมื่อพลิกอ่านต้นฉบับแบบผ่านๆ แล้ว ก็ละงานอื่นไว้ก่อน   เร่งอ่านและเขียนคำนิยมให้ด้วยความยินดี   และด้วยความเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเป็นพลังปัญญาอีกส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทยอันเป็นที่รักและห่วงใยยิ่งของเรา

น่าชื่นชมท่านผู้เขียน คือ ดรรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ที่เขียนหนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทยออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ด้วยสาระที่ประเทืองปัญญา และด้วยท่วงทำนองของผู้มีวุฒิภาวะสูง  มีข้อมูล และมีเมตตา

ใคร่ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ผมเห็นด้วยกับสาระในบทนำของหนังสือเล่มนี้ที่วิเคราะห์ความไม่พอใจของประชาชนต่อระบบทักษิณทั้งหมด   และแม้ท่านผู้เขียนจะใช้คำว่า ระบบทักษิณ ไม่ยอมใช้คำว่าระบอบ” เพราะท่านยกคำว่าระบอบไว้ใช้เฉพาะต่อของสูง   ผมก็ได้เคยพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจ ระบอบทักษิณ และบันทึกไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมไทยที่www.gotoknow.org/posts/555001

หนังสือเล่มนี้มี ๔ บท เขียนตามหลักอริยสัจสี่ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค   โดยเขียนตามหลักวิทยาศาสตร์ มีข้อมูลหลักฐานอ้างอิงที่มาจากองค์การนานาชาติเป็นหลักใหญ่ ซึ่งผมเชื่อว่า หากดำเนินการได้ตามแนวทางที่เสนอ ประเทศไทยก็จะวัฒนาถาวรสามารถก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่สภาพประเทศที่พัฒนาแล้ว

เนื้อหาในบทที่ ๑ (ทุกข์)  มีรายละเอียดมากที่สุด มีข้อมูลอ้างอิงมากมาย    น่าตื่นตาตื่นใจ และมีความยาว ๒๐ หน้า จากความยาวทั้งหมดของหนังสือ ๓๙ หน้า    สรุปได้ว่าประเทศไทยล้าหลังลง และทำนายได้ว่าจะยิ่งล้าหลังเพราะคุณภาพการศึกษา ที่อ่อนด้อยอย่างยิ่ง    ประกอบกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ในบทที่ ๒ เหตุแห่งทุกข์ ผู้เขียนสรุปไว้ในแผนภาพ เป็นวงจรของปัจจัยหลัก ๗ ประการ ในหน้าที่ ๓๐   และสรุปได้ว่า ต้องปฏิรูปที่คุณภาพของคน บทที่ ๓ แนวทางแก้ปัญหา ผู้เขียนเสนอ ๖ ประเด็นหลัก คือ การศึกษา  การวิจัยและพัฒนา  เศรษฐกิจ  ความยากจน  ทุจริตคอรัปชั่น  และ ความสงบสุขสันติ และบทที่ ๔ การดำเนินการแก้ไขปัญหา ผู้เขียนเสนอให้ดำเนินการ ปฏิรูปประชาชน

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของบทที่ ๓ และ ๔ มีเนื้อหาน้อย เป็นส่วนที่ผู้เขียนสังเคราะห์นำเสนอในเชิงหลักการ ผมตีความว่า ส่วนทุกข์และสมุทัย เป็นส่วนข้อเท็จจริง จึงมีความเป็นรูปธรรมมาก    แต่ส่วนนิโรธและมรรค สำหรับสังคมในยุคปัจจุบันที่มีความซับซ้อนเหลือประมาณนั้น ไม่สามารถเขียนออกมาได้ทั้งหมด  และไม่สามารถกำหนดออกมาเป็นแผนได้    ต้องทำไปเรียนรู้ไปปรับปรุงไป คือต้องดำเนินการแบบ เคออร์ดิค (http://www.gotoknow.org/posts?tag=เคออร์ดิค)

หนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทยเล่มนี้ มีความจำเพาะตรงที่นำเอาหลักพุทธศาสนามาเป็นประทีปส่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการสร้างคนดีสำหรับเป็นกำลังต่อบ้านเมือง(หน้า ๓๘)    และเน้นที่ระบบปัญญาของคนทั้งประเทศ

เนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก    นอกจากอ่านหนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทยเล่มน้อยนี้แล้ว    ผู้ที่สนใจเรื่องการปฏิรูปสังคมไทยอย่างจริงจังควรได้อ่านหนังสือ แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)    หนังสือเล่มนี้หนา ๕๐๖ หน้า มีรายละเอียดแง่มุมต่างๆ มากมาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำ หรือความอยุติธรรม ในสังคม สามารถอ่านฉบับย่อหนา ๔๕ หน้าทาง อินเทอร์เน็ตได้ที่ http://pkc.ac.th/ckfinder/userfiles/files/aenwthaangkaarptiruuppraethsaithy_khesntphrrkhkaaremuuengaelaphuumiisiththeluuektang.pdf หนังสือ แนวทางปฏิรูปประเทศไทย ของ คปรจะช่วยเติมเต็มประเด็นเชิงสังคม    ส่วนที่หนังสือ พลิกฟื้นประเทศไทย กล่าวถึงน้อย

สาระสำคัญที่สุดที่เสนอตรงกันโดยหนังสือทั้งสองเล่มนี้คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นจริง เป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งสังคม ต้องดำเนินการระยะยาว เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นระบบ

ผมขอขอบคุณ ดรรุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์แทนสังคมไทย ที่มีกุศลเจตนาต่อบ้านเมือง    เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อร่วมกัน พลิกฟื้นประเทศไทย

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

……………………

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2014 เวลา 18:21 น.