ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๘. โยนิโสมนสิการแผนพัฒนาประเทศ สู่อำนาจปัญญาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

วันเสาร์ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๘. โยนิโสมนสิการแผนพัฒนาประเทศ สู่อำนาจปัญญาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

 

ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๖ พ.๕๖ ซึ่งผมได้บันทึกสาระของการพูดคุยไว้แล้ว ในบันทึกนี้ ทีมของสภาพัฒน์มอบเอกสารเส้นทางประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียน และวารสารเศรษฐกิจและสังคม จำนวนหนึ่ง เป็นการตอบแทน

ผมเอามาพลิกๆ ดู และถามตนเองว่ากิจการต่างๆ ของสภาพัฒน์ เท่าที่ผมเห็น    จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง     และให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาพ สังคมเข้มแข็ง ๓ มุม” ได้ไหม    สังคม ๓ มุม คือสังคมมั่นคง  สังคมสีเขียว  และสังคมวัฒนธรรม ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

คำตอบคือ ประเทศไทยเรายังขาดกลไกเชิงสถาบันเพื่อการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกเชิงปัญญาที่เป็นอิสระจากอำนาจ ทั้งหลาย สำหรับช่วยเป็นแรงส่งการดำเนินการที่ซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive) ยิ่ง คือการพัฒนาประเทศ   โดยใช้ อำนาจปัญญา เป็นอำนาจที่ ๔    เพิ่มจากอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และ อำนาจตุลาการ ในสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร อย่างในปัจจุบัน เราต้องการอำนาจปัญญาที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และซื่อสัตย์

สภาพัฒน์ ไม่อยู่ในฐานะนั้น เพราะเป็นหน่วยราชการ    ผู้บริหารของสภาพัฒน์ต้องประนีประนอมกับนักการเมือง    ผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษตนได้ ไม่สามารถทำงานวิจัยแบบวิเคราะห์เจาะลึกตรงไปตรงมา และบอกแก่สังคมแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมได้    คือสภาพัฒน์ยังเป็นกลไกรัฐบาล ไม่ใช่กลไกประเทศไทย และเก่งยกร่างแผนพัฒนาที่ประนีประนอม    แต่ไม่เก่งเลยในช่วงของการดำเนินการตามแผน

ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฉบับที่ ๑๑ ด้วย  โดยมี ดรณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็นประธาน ผมมีโอกาสไปประชุมครั้งแรกครั้งเดียว    แล้วไม่ได้ไปอีก   เพราะเขาไม่นัดประชุมล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ    ใช้วิธีนัดตามที่ประธาน สะดวก    นัดทีไรผมไม่ว่างสักที    ตอนไปประชุม ผมเสนอให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (จริงๆ คือสารสนเทศ - information) ที่สื่อสารกว้างขวางได้ และชาวบ้านเข้าใจ    โดยมีดัชนีชุดหนึ่งของ สังคมมั่นคง  สังคมสีเขียว  และสังคมวัฒนธรรม ให้เห็นแนวโน้มความเคลื่อนไหว

จะเห็นว่า ความเสื่อมโทรมของสังคมไทยในช่วง ๑๐ ปีเศษที่ผ่านมา ในด้านการเมือง ที่ขบวนการมวลมหาประชาชน ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทย นั้น    ไม่มีสัญญาณจากสภาพัฒน์ออกมาเตือนสังคมเลย

และสภาพัฒน์ ไม่ได้จับประเด็นสำคัญหลัก ๒ อย่างตามความเห็นของคุณบรรยง พงษ์พานิชที่นี่ (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างมากคือ เรื่องผลิตภาพกับเรื่องการกระจายรายได้ ขึ้นมาเป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อน

 

จะว่าสภาพัฒน์ ทำงานไม่ดีก็คงไม่ถูก    เพราะงานหลายอย่างของสภาพัฒน์ ก็ช่วยประสานการเคลื่อนสังคมไทย ไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบและอย่างมีสารสนเทศสนับสนุน   เพียงแต่ว่ายังขาดงานส่วนที่เป็นการจัดทำสารสนเทศเชิงลึก และเป็นวิชาการมากๆ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่ไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งเป็นบทบาทสร้าง อำนาจปัญญาให้แก่สังคมไทย

 

ที่จริงเรามีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)    มี วช., สวทช., สวรส., สกว., สวก., สวทน.   แต่ยังไม่มีการใช้พลังของหน่วยงานเหล่านี้อย่างเต็มที่    ไม่มีการพัฒนานักวิจัยระดับยอดอย่างจริงจังและเป็นระบบ    ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างที่แถลงนโยบาย    กล่าวได้ว่านโยบายรัฐบาลในเรื่องสนับสนุนการวิจัยนั้น ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา เป็นนโยบายประเภท ดีแต่ปาก”    ไม่ได้ทำจริงจัง    ในรัฐบาลที่เพิ่งลาออกไปมีรัฐมนตรีที่เข้ามาทำลายระบบการวิจัย ด้วยซ้ำ

 

ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบอำนาจปัญญาที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และซื่อสัตย์    ประเทศไทยจะพัฒนายกระดับขึ้นไป ได้ยาก หรือไม่ได้เลย

การปฏิรูปประเทศไทย ต้องคำนึงถึงการสร้างระบบปัญญาของประเทศ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 20:25 น.