ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๙๑. สะท้อนคิดจากการดูวีดิทัศน์ R2R

วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

แผ่น DVD 2 แผ่น    คือเรื่อง วิถี R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กับเรื่อง ร่วมสร้างวัฒนธรรม R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แผ่นหนึ่ง     กับอีกแผ่นหนึ่ง เรื่อง วิถี R2R เรียบง่าย คุณภาพ ครบวงจร ที่จัดทำโดยโครงการ R2R ประเทศไทย     ผมดูแล้วหวนคิดถึงชีวิตของตนเอง

แต่ก่อนอื่นผมขอเชิญชวนให้ดูวีดิทัศน์ ๓ เรื่องนี้    ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพงาน    พัฒนาโดยพนักงาน ตัวเล็กตัวน้อยหน้างาน    ที่ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็น ผู้ยิ่งใหญ่” ในการพัฒนางานของตน    เพื่อรับใช้หรือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

คนเราทุกคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้    โดยไม่ต้องยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ไม่ต้องอยู่ในฐานะหัวหน้าควบคุมคนอื่น    แต่มุ่งทำงานของตนให้ดีขึ้นกว่าเดิม    หาวิธีการใหม่ๆ เอามาปรับปรุงงาน    โดย R2R เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง    ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือ ของการพัฒนางาน    ความสำเร็จในการพัฒนางานของตน และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่   เป็นผู้นำ น่าชื่นชม

วัฒนธรรมคุณภาพ เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ตอนทำงานเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วงปี ๒๕๒๘ - ๒๕๓๒    ที่ขบวนการ QCC (Quality Control Circle) กำลังเบ่งบานในสังคมไทย   ทำให้ผมได้เรียนรู้และเชื่อมั่นว่า กระบวนการคุณภาพ มุ่งพัฒนาคุณภาพงานของตนอย่างต่อเนื่อง (CQI – Continuous Quality Improvement) เป็นวัฒนธรรมคุณภาพ ที่องค์กรใด และบุคคลใดสามารถปลูกฝังไว้ในตนได้    จะเป็นคุณไปตลอดชีวิต

คุณประโยชน์หลัก อยู่ที่มันปลุกความมั่นใจในตัวเอง ของคนทุกคน   รวมทั้งคนที่ทำงานอยู่ในระดับที่เรียกว่า แรงงานไร้ฝีมือ เช่นพนักงานทำความสะอาด    ผมได้ประจักษ์กับตา ว่าเมื่อเขาได้รวมทีมกันทำกระบวนการ QC   ทำความเข้าใจเป้าหมายงานของตน    และร่วมกันตั้งเป้าหมายใหม่ ที่ดีกว่าเดิม    แล้วใช้กระบวนการ PDCA เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่นั้น    ชีวิตการทำงานของพนักงานเหล่านี้เปลี่ยนไป    เขาไม่ได้ทำงานจำเจอีกต่อไป    แต่ทำงานสร้างสรรค์วิธีทำงานใหม่ๆ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม    ศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเขาได้รับการปลุกขึ้นมา

ดังนั้น เมื่อผมไปเป็นผู้ช่วยคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ไปรับใช้ศิริราช    ในการคลำหาทางต่อยอดคุณค่าของชิ้นงาน จำนวนมหาศาลของศิริราช ให้กลายเป็นผลงานวิจัย / วิชาการ    เมื่อประมาณ ๙ ปีที่ผ่านมา    กระบวนการพูดคุย หรือที่เราเรียกกันว่า เป็นการ โค้ช งาน    ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป้า     จากเป้าผลงานวิชาการ เป็นเป้ายกระดับคุณภาพงานประจำ    และเกิด R2R เป็นเครื่องมือในที่สุด

R2R จึงเป็นหลายอย่างในเวลาเดียวกัน   แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นเครื่องมือพัมนาวัฒนธรรมคุณภาพ

จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำอย่างมีคุณภาพ    คุณภาพสูงอาจไม่ได้ในทันที    แต่เมื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง    ในที่สุดก็จะได้ผลงานที่คุณภาพสูง

ความมานะพยายาม และดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง    ชำนะอุปสรรคทั้งปวง

 

 

วิจารณ์ พานิช

.๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 02:16 น.