มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

ผมร่วมคณะศึกษาดูงานของสถาบันคลังสมอง ไปสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๘ ๑๓ ก.ย. ๕๖   โดยมีเป้าหมายในใจว่า ต้องการไปดูว่าการทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง เพราะอะไร เขามีการจัดระบบการทำงานอย่างไร

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้รับ  ให้อ่านก่อนเดินทางคือ The UK Professional Standards Framework for teaching and supporting learning in higher education, 2012 (UKPSF)  ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็รู้ทันทีว่า มีความพยายามพัฒนากรอบมาตรฐานการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

๑. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนและสนับสนุนการเรียน   ทั้งพัฒนาบุคลากรใหม่ และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

๒. ส่งเสริมพลวัตของการเรียนรู้   ผ่านการสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ในหลากหลายบริบททางวิชาการ

๓. แสดงความเป็นมืออาชีพในด้านการเรียนการสอน

๔. ให้ความมั่นใจในความหลากหลายและคุณภาพของการเรียนการสอน  ที่นักศึกษาได้รับ

๕. ส่งเสริมให้บุคคลและสถาบันได้รับการรับรอง ว่ามีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษา    โดยรวมทั้งผ่านการทำหน้าที่อื่นที่กว้างกว่าการสอน เช่นการวิจัย และงานบริหาร

 

 

กรอบมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  คือ กิจกรรม (Area of Activity) หรือสมรรถนะ(Competencies) ในการจัดการเรียนรู้ และสนับสนุนการเรียนรู้ความรู้หลัก (Core Knowledge), และเกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์(Professional Values)   โดยมีองค์ประกอบย่อยของแต่ละส่วนดังนี้

 

Area of Activity

A1   ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ และ/หรือ โปรแกรมการเรียนรู้

A2   สอน และ/หรือ สนับสนุนการเรียนรู้

A3   ประเมิน (Assess) และให้การป้อนกลับ (feedback) แก่ผู้เรียน

A4   จัดบรรยากาศการเรียนรู้ และแนวทาง ให้นักศึกษาได้แนวทางการเรียนรู้  และการสนับสนุนการเรียนรู้ ที่ดี

A5   ร่วมในกิจกรรมการพัฒนาวิชาการ (professional development) ด้าน สาขาวิชา และกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชา   รวมทั้งการวิจัย  การค้นคว้าสร้างความรู้ (scholarship)   และการประเมินกิจกรรมการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย

 

Core Knowledge

K1   ความรู้ในวิชานั้นๆ

K2   วิธีการที่เหมาะสมในการสอน การเรียน และการประเมิน   ตามระดับของหลักสูตร

K3   นักศึกษาเรียนรู้อย่างไร  ทั้งโดยทั่วๆ ไป และในสาขาวิชาที่ตนสอน

K4   วิธีใช้ และคุณค่า ของเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม

K5   วิธีการประเมินประสิทธิผลของการสอน

K6    ผลของการประกันคุณภาพ และการเพิ่มคุณภาพ สำหรับกิจกรรมวิชาการ และปฏิบัติการทางวิชาชีพ   เน้นที่กิจกรรมการสอนเป็นพิเศษ

 

Professional Values

V1   เคารพผู้เรียนเป็นรายคน  และเคารพชุมชนการเรียนรู้ที่หลากหลาย

V2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

V3   ใช้วิธีการที่มีหลักฐานยืนยันผลสัมฤทธิ์ จากการวิจัย หลักฐานทางวิชาการ (scholarship)  และจากการพัฒนาอาจารย์

V4   ตระหนักในบริบทสังคมวงกว้างที่อุดมศึกษาจะต้องทำงานด้วย   ที่ปฏิบัติการทางวิชาชีพ จะต้องเอาใจใส่

 

อ่านเอกสารนี้แล้ว ผมนึกถึงคำบรรยายของ ศดรสุภา เพ่งพิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม retreat ของสภามหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Transformative Education เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๖   โดยที่ ศ. ดร. สุภา ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอัฟริกาใต้อยู่ ๑๐ ปี จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์    จึงคุ้นกับระบบการเรียนการสอนของประเทศนั้น   ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ

ท่านเล่าว่า คนที่จบปริญญาเอก หากต้องการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องไปเข้ารับการอบรมการเป็น moderator (ทำหน้าที่สอน) และการเป็น assessor (ทำหน้าที่ประเมิน นศ.)    และสอบผ่านจึงจะเป็นอาจารย์ได้   โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือSAQA (South African Quality Authority)     ผมฟัง ดร. สุภา แล้วรู้สึกว่า หน่วยงานนี้ในประเทศไทยคือ ONESQA หรือ สมศ. นั่นเอง   แต่ทำงานต่างกัน   ที่อัฟริกาใต้ SAQA เขาทำงาน ส่งเสริมและวางระบบคุณภาพ   ไม่ใช่เน้นการประเมินอย่าง สมศ. ของไทย

ผมได้ข้อสรุปสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๓ ด้าน   คือ (๑) ด้านเนื้อวิชา  (๒) ด้านการเรียนการสอน การสนับสนุนการเรียนรู้ และการประเมิน  (๓) ด้านคุณค่า หรือจริยธรรม ของการเป็นอาจารย์    โดยต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตในคุณสมบัติทั้ง ๓ ด้านนั้น   โดยในต่างประเทศหน่วยงานประกันคุณภาพ ทำหน้าที่จัดการระบบนี้   แต่ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ อย่างแท้จริง    น่าจะเป็นหน้าที่ ของ สกอ.   แต่ สกอ. ก็อ่อนแอ ไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ได้

วันที่ ๙ ก.ย. ๕๖ เมื่อได้ฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA (Higher Education Academy)ที่ Sunley Conference Centre  ผมก็สว่างวาบ ว่าประเทศอังกฤษเขามีวิธีบริหาร การเปลี่ยนแปลงอย่างแยบยล และเป็นขั้นตอนระยะยาวอย่างน่าชื่นชมยิ่ง    โดยมี PSF (Professional Development Framework) เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง    แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือวิธีที่เขาค่อยๆ ดำเนินการให้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้รับยกย่องตามเกณฑ์คุณสมบัติผู้สอน (Descriptor) ซึ่งมี ๔ ระดับ   ตาม Descriptor 1 – 4  ซึ่งจะได้รับยกย่องเป็น Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow ตามลำดับ   โดยการยกย่องนี้มีอายุ ๓ ปี ไม่เป็นการถาวรตลอดชีพ   เพราะสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   เคล็ดลับในการจัดการคือ เขาไม่บังคับ

การมี fellow ด้านการจัดการเรียนการสอน ๔ ระดับ    เป็นการบอกไปในตัวว่าทักษะและความรู้ ด้านการเรียนการสอนนั้น ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา อยู่ตลอดเวลา โดยเขามีช่องทางให้ได้คุณวุฒิ (ย้ำว่าเป็นคุณวุฒิชั่วคราว ๓ ปีนี้ ๒ ช่องทาง    คือ (เข้ารับการอบรมโดยหน่วยงานที่ HEA รับรอง    (๒)​ ช่องทางประสบการณ์ โดยเขียน portfolio ของตนตามแบบฟอร์มที่กำหนด  เสนอ HEAเพื่อส่ง assessor ไปประเมิน    ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมนั่งคุยกับ Dr. Caroline Stainton, Academic Lead for Reward and Recognition and Deputy Head, HEA   เธอบอกว่ากำลังเตรียมตัว apply เพื่อให้ได้รับ Principal Fellow   ผมปากหนัก ลืมถามว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทั้งหมดนั้น เขาเรียก CPD (Continuous Professional Development) Scheme   โดยเป็น scheme ที่มีความยืดหยุ่นตามสาขาวิชา และตามลักษณะของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

ผมคิดว่า นี่คือวิธีการที่ สรพ. (พรพ. ในช่วงก่อตั้ง) ใช้ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาล   โดยเรียนรู้หลักการจากต่างประเทศ   เอามาคิดเกณฑ์ของไทยเอง    สร้างผู้ตรวจเยี่ยมหรือผู้ประเมิน (assessor) ของเราเอง จากคนที่ทำงานในระบบบริการโรงพยาบาลนั่นเอง    และใช้ HA Forum ประจำปี เป็นเวทีเรียนรู้ (และแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ต่อเนื่อง   ดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบัน    โดยมี สปสช. ซึ่งมีเงินปีละกว่าแสนล้าน ซื้อบริการการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างๆ    ช่วยสร้าง incentive ให้แก่ รพ. ที่พัฒนาระบบคุณภาพ และผ่านการประเมินของ สรพ.   รพ. เหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน การให้บริการแต่ละครั้ง เพิ่มขึ้น ๗๐ บาท

ต้องจับหลักการเรียนรู้ต่อเนื่อง ของอาจารย์ผู้สอนให้มั่น   แล้วดำเนินการยกย่องตามระดับของ สมรรถนะ   ก็จะช่วยให้อาจารย์สอนเป็นมืออาชีพด้านการเรียนการสอน   จัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น    เกิดผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์   ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย    และตัวอาจารย์ก็จะเป็นผู้เรียนรู้ (จากการทำงาน) ตลอตชีวิต    หรือเป็นอาจารย์มืออาชีพนั่นเอง

ผมแปลกใจ ที่ตลอดเวลา ๕ วันของการดูงาน   ไม่มีการนำเสนอที่ย้ำว่า อาจารย์ต้องรวมตัวกัน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือกันทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)    แต่เขาเน้น partnership มากในทุกที่

ส่วน UKSPF มีการเอ่ยถึงในทุกที่ที่เราไปดูงาน   และเอ่ยในเชิงบวก ว่าเป็นเครื่องมือให้เขาพัฒนาอาจารย์  อย่างต่อเนื่องได้สะดวกขึ้น    ต่างจากปฏิกิริยาของสถาบันอุดมศึกษาไทย ต่อ TQF อย่างหน้ามือกับหลังมือ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๖  เพิ่มเติม ๑๓ ก.ย. ๕๖

Sunley Conference Centre, U of Northampton  และบนเครื่องบินการบินไทย กลับกรุงเทพ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 22:01 น.