ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๗. สังสรรค์เสวนากันเอง ในกลุ่มผู้ร่วมดูงาน ที่มหาวิทยาลัย Northampton

วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ช้าวันจันทร์ที่ ๙ ก.ย. ๕๖ ฟ้าต้อนรับคณะของเราด้วยรุ้งกินน้ำสองวงซ้อน โดยที่ฝนตกตั้งแต่ ฟ้ายังไม่สาง    และเมื่อ อวิม(วณิชาชื่นกองแก้วสวมเสื้อกันฝนออกไปวิ่งได้สักครูก็กลับมาเอากล้องถ่ายรูป บอกว่ามีรุ้งกินน้ำสองวง สวยมาก    ผมจึงได้ออกไปถ่ายรูปรุ้งกินน้ำเหนือฟ้ามหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน กับเข้าด้วย    ได้ผสมโรงวิ่งออกกำลังท่ามกลาวฝนพรำอยู่ ๑๕ นาที   รุ้งหายไปผมก็กลับ

ระหว่างนั่งรัประทานอาหารเช้าที่ Sunley Conference Centre   กัน ๔ คน มี ดร. กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี มวล., ผศ. ดร. ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว., และ อ.สมาน ศรีสะอาด รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มรภ. มหาสารคาม และผม    ตอนหนึ่ง ดร. ชลวิทย์เล่าเรื่องประสบการณ์ ๑ สัปดาห์ ของท่านที่สวนโมกข์   และเล่าเรื่องท่านพุทธทาสสอนคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช แบบไม่สอน   โดย ดร. ชลวิทย์ ฟังจากปากของคุณหญิงพรทิพย์โดยตรง

ราวๆ ปี ๒๕๒๓ ๒๔ มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน เงินบาทราคาตกลงไปมาก    ทำให้หนี้สินของบริษัท ของคุณหญิงพรทิพย์เพิ่มขึ้นมากมาย   คุณหญิงเป็นทุกข์มาก   หาวิธีผ่อนคลายความทุกข์อย่างไร ก็ไม่สำเร็จ   จึงไปหาท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์   ได้เข้าไปเล่าความทุกข์อย่างยืดยามโดยท่านพุทธทาสนั่งฟังอย่างสงบ   ไม่ขัดจังหวะใดๆ    จนคุณหญิงหยุดเล่า    ท่านก็เอ่ยว่าให้ไปยกก้อนหินก้อนโน้น (ซึ่งก้อนโตหนักมาก    พอยกขึ้นก็ต้องวางทันที) แล้วกลับมาคุยกันใหม่

เมื่อกลับมาท่านก็ถามว่า ก้อนหินหนักไหม   ตอบว่าหนักมาก   ท่านถามต่อว่า เมื่อวางลงเสียแล้ว เป็นอย่างไร    คุณหญิงซึ่งเป็นคนมีปัญญาก็สว่างวาบทันทีว่า    ที่ท่านทุกข์ก็เพราะไม่ปล่อยวางนี่เอง

ผมได้จังหวะ จึงบอกวงสนทนาว่า    นี่คือการสอนแบบเซน สอนแบบไม่สอน ให้สัมผัสเอง และตระหนักรู้เอง    ดีกว่าการสอนด้วยคำพูดร้อยเท่า    เพราะได้ความรู้จากการตระหนักรู้ด้วยตนเอง    ตรงกับหลัก 21st Century Learning หรือ Cognitive Psychologyสมัยใหม่   ที่ต้องเรียนโดยลงมือปฏิบัติ    แล้วไตร่ตรองสำนึกรู้ของตนเอง เกิดความรู้ มือหนึ่ง ก็จะเกิดสภาพที่ รู้จริง”    แตกต่างจากกรรับถ่ายทอดความรู้ ‘มือสอง’ มาจากผู้อื่น ยากที่จะรู้จริง

ดร. กีร์รัตน์ ชวนคุยเรื่อง เหตุเกิดที่สวนโมกข์ในขณะนี้   จึงได้คุยกันเรื่องอติมานะ และกิเลสอื่นๆ ของสมมติสงฆ์   ที่วงการสงฆ์ไทยหลงตามอย่างวงการฆราวาส   ดังนั้น แทนที่สงฆ์จะตั้งหน้าฝึกฝนเรียนรู้ วิธีดำรงชีวิตที่กิเลสเบาบาง    เอาไว้ช่วยฆราวาสยามทุกข์   สมมติสงฆ์เองกลับมีกิเลสหนา และเกิดเหตุการณ์ที่  ไม่พึงเกิดกับสงฆ์อยู่บ่อยๆ

ผมเล่าให้ฟังว่า ผมไม่สนิทกับสวนโมกข์    ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือสวนโมกข์หากไม่ได้รับการร้องขอ   คนที่สนิทกับสวนโมกข์มากสมัยที่ท่านพุทธทาสยังอยู่  และสมัยท่านอาจารย์โพธิ์ คือ นพ. บัญชา พงษ์พานิช   ที่เป็นผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาสในขณะนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๖

Sunley Conference Centre, U of Northampton

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 22:56 น.