เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 1. คณะกรรมาธิการอิสระต่อต้านคอรัปชั่น

วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
ICAC ทำงาน ๓ ด้าน คือสอบสวน ป้องกัน และการศึกษาแก่ชุมชน

เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 1. คณะกรรมาธิการอิสระต่อต้านคอรัปชั่น

คุณ Dominic Regester, Deputy Director Education, East Asia ของ บริติชเคาน์ซิล เป็นผู้สะกิดใจผมว่า ตัวอย่างของประเทศที่แก้ปัญหาคอรัปชั่นอย่างได้ผลมีอยู่    คือประเทศฮ่องกง    ที่ช่วงก่อนคริสตทศวรรษที่ 1970 คอรัปชั่นในฮ่องกงรุนแรงมาก   จึงมีมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว    และได้ผลจริงๆ โดยผมเชื่อว่าต้องทำอย่างเป็นระบบ และระยะยาว

ผมกลับมาค้น กูเกิ้ล ที่บ้าน   พบเรื่อง Independent Commission against Corruption (Hong Kong) (ICAC)   ที่ตั้งโดยผู้ว่าราชการของฮ่องกง ในปี ค.ศ. 1974 สมัยยังอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ โดยมีเป้าหมายลดคอรัปชั่นในหน่วยราชการ    ใช้ ๓ มาตรการ คือ การบังคับใช้กฎหมาย  การป้องกัน  และการศึกษาของชุมชน

ICAC เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย    มีฐานะเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากราชการ    รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง    และผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้    โดยหลังปี 1997 ที่ฮ่องกงกลับมาอยู่ใต้ปกครองของจีน   คณะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งโดยสภาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการฮ่องกง

บทความที่เอ่ยถึงข้างบนใน Wikipedia เล่าเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุของการระบาดของโรคคอรัปชั่นในสังคมฮ่องกง    มาจากความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒    แต่อัตราเงินเดือนของข้าราชการต่ำมาก   เกิดการเรียก(และให้)เงินใต้โต๊ะอย่างแพร่หลาย   โดยตอนนั้นหน่วยปราบคอรัปชั่นอยู่ที่ตำรวจ   แต่พบว่าตำรวจนั่นแหละเป็นตัวการ   มาตรการต่อต้านและปราบคอรัปชั่นโดยกลไกตำรวจไร้ผล   และคอรัปชั่นระบาดไปทั่วทุกวงการ   ไม่ใช่เฉพาะในราชการ

เมื่อตั้ง ICAC คนฮ่องกงไม่เชื่อถือ   เยาะเย้ยกันว่า ย่อจาก I Can Accept Cash   และเจ้าหน้าที่ของ ICAC ในช่วงแรกมาจากตำรวจ และทำงานไม่เป็น   คือทำเป็นแค่ไล่จับมาสอบสวน

แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 นั่นเอง ICAC ทำงานใหญ่    ดำเนินการสอบสวนข้าราชการที่ต้องสงสัยจำนวนมาก    คนผิดชัดเจนถูกลงโทษ ถูกปลด   คนที่ผิดบางคนถูกปลด แต่ไม่ลงโทษรุนแรง    มาตรการของ ICAC ทำให้ฮ่องกงเป็นประเทศที่ยอมรับกันว่า สะอาดจากคอรัปชั่น ดีกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในโลก

ช่วงทศวรรษ 1990 พบการทำผิดโดยสมาชิกของ ICAC เอง   แต่แปลกที่บทความนี้บอกว่า ภาพลักษณ์ของ ICAC ไม่เสียหายมากนัก   เดาว่าคงจะเป็นเพราะผลงานดี

เมื่อฮ่องกงกลับมาอยู่กับจีน รัฐสภาจีน ออกกฎหมายตั้ง ICAC   ทำให้ ICAC ยิ่งมีฐานะมั่นคง    และในปี 2005 ICAC แจ้งจับคอรัปชั่นจากหลักฐานการสืบข้อมูลลับ    และศาลยอมรับหลักฐานนั้น และลงโทษผู้ผิด    และในปีต่อมาก็มีการออกกฎหมายกำหนดวิธีการให้ ICAC สืบข้อมูลลับได้

ในปี 2003 เจ้าหน้าที่สอบสวนของ ICAC ถูกสอบสวนและลงโทษจำคุก ๙ เดือน ฐานให้ข้อมูลเท็จ    เป็นการทำผิดครั้งเดียวของเจ้าหน้าที่ของ ICAC 

ย้ำอีกทีว่า ICAC ทำงาน ๓ ด้าน   คือสอบสวน  ป้องกัน  และการศึกษาแก่ชุมชน    แม้ว่าเจ้าหน้าที่ ๓ ใน ๔ อยู่ในแผนกสอบสวน    แต่ ICAC ก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและการศึกษาเท่าเทียมกับการสอบสวน    โดยได้พยายามเปลี่ยนความคิดของผู้คน ให้ไม่ยอมรับการติดสินบนหรือเงินตอบแทน   และหากประชาชนเดือดร้อนจากการไม่ยอมรับการติดสินบน ICAC จะเข้าไปสอบสวน

ที่น่าทึ่งคือ มีการสร้างหนังเรื่อง I Corrupt All Cops เพื่อเผยแพร่ผลงานของ ICAP ด้วย   โดยตัวอักษรย่อของชื่อหนังคือ I. C. A. C.

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:03 น.