ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๗. ถอดรื้อมายาคติ

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ลูกชายเอาหนังสือ ถอดรื้อมายาคติมาให้     อ่านแล้ววางไม่ลง     ถูกจริตผม เพราะมันช่วยเปิดมุมมอง ใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย    ช่วยให้เราหูตากว้างขึ้น

หนังสือแบบนี้อ่านยาก หรือหนัก    แต่ประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง     เพราะมันชี้ให้เราเห็นความไม่ชัดเจน หรือข้อโต้แย้งต่างๆ ในสังคม     ให้เห็นที่มาที่ไปของประเด็นโต้แย้ง ที่ตกลงกันยาก หรือตกลงกันไม่ได้     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องดำเนินการต่อมา

ผมได้เข้าใจ จากบทความที่ถอดจากการบรรยายและซักถาม รศ. ดร. วรเจต ภาคีรัตน์  (หน้า ๘๘) เรื่อง ซีแอล ยารักษา เอ็ชไอวี/เอดส์     ที่มองที่ผลดีต่อผู้ติดเชื้อ ถือเป็นการกระทำที่เป็นสุดยอดความดี     มีคุณประโยชน์ ต่อสังคมไทย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นๆ     แต่ก็โต้แย้งได้ ว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลที่มาจาก การปฏิวัติ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว     เราสามารถยกเรื่องต่างๆ ในสังคมขึ้นมาถกเถียงได้มากมาย    โดยไม่สามารถหา ข้อยุติได้    แต่ทำให้เราฉลาดขึ้น เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องต่างๆ มากขึ้น    และเห็นความเป็นมายาของโลก และชีวิตมากขึ้น    ว่ามันเป็นสมมติ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น    มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดล้ำ แต่ก็มีอคติแฝงอยู่ด้วย    มนุษย์จึงเต็มไปด้วยความผิดพลาด

ในการคุยกับลูกชาย     คนแคบอย่างผมจึงได้รู้เรื่องที่คนในสังคมเขาลือกันอื้ออึงตั้งนานแล้ว แต่ผมไม่ทราบ    คือเรื่องปราชญ์ใหญ่ในแผ่นดินหย่าเมีย เพื่อมาแต่งงานกับสาวลูกศิษย์     ซึ่งคงมีคนคลายหรือเลิก นับถือท่านไปมาก    แต่คนแก่อย่างผมคิดว่า นี่คือมนุษย์ ที่ทำผิดได้    แต่ถามว่าถ้าเป็นผม จะทำไหม ผมยืนยันว่าไม่

เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนไหมครับ     หนังสือ ถอดรื้อมายาคติ ว่าด้วยหลักการ    หรือ คำอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมด้วยมุมมองของศาสตร์ต่างๆ     แต่ในส่วนตัว การให้อภัย ให้ความเมตตา เห็นอกเห็นใจ ในความอ่อนแอบางจุดของเพื่อนมนุษย์ ก็ช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีได้    แต่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้อง ไม่ยึดติด    ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความดี จนเกินไป    ไม่เอามาตรฐานความดีที่เรายึดถือ ไปใช้ตีตราคนอื่น    หรือ เอาไปคาดคั้นคนอื่น ในเรื่องส่วนตัวของเขา

แต่ก็มีประเด็นว่า ความประพฤติปฏิบัติของตัวเรา อาจมีผลละเมิดผู้อื่น    อาจก่อความไม่สงบสุข ขึ้นในสังคม    การประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งไม่ชอบ

จุดอ่อนที่สำคัญของมายาคติ คือมันกดทับหรือปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น    ทำให้สังคม ย่ำเท้าอยู่กับที่ และล้าหลัง ในภาคส่วน หรือประเด็นนั้นๆ    หรืออาจทำให้เกิดการขัดกัน หรือไม่สอดคล้องกัน ระหว่างส่วนของสังคม    ดุลยภาพเสียไป    เกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจลุกลามเป็นวิกฤติได้    ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

มายาคติ ทำให้ผู้คนมีความเข้าใจ หรือยึดถือสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่ต่างกัน    ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก อีกฝ่ายเป็นผู้ผิด

แต่หากทำความเข้าใจตามหนังสือเล่มนี้ จะเห็นความซับซ้อนของสรรพสิ่ง และ “ความจริง” ทั้งหลาย     ได้เข้าใจว่า ไม่ว่าเรื่องใด “ความจริง” มีหลายชุด    และไม่มี “ความจริงแท้”    ความเชื่อในความจริงแท้ จึงเป็น มายาคติ     ไม้ใช่ของจริง

ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า “ถอดรื้อมายาคติ”    อันเป็นชื่อที่ก่อกวนความยึดมั่นถือมั่นเดิมๆ    ยิ่งหัวข้อย่อยทั้ง ๗ หัวข้อ ยิ่งก่อกวนความรู้สึกคน    เช่นหัวข้อที่ ๖ เรื่อง มายาคติว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ โดย ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ยิ่งมีความล่อแหลม

หนังสือเล่มนี้ สำหรับอ่านแล้วได้รู้ว่ามีวิธีคิดแบบนั้นๆ อยู่ด้วย    ส่วนใหญ่เราไม่คุ้นเคย    และผมคิดว่าในความคิดเหล่านั้น ก็มีมายาคติอยู่ด้วย

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว    ผมเห็นว่า มายาคติเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่ทั่วไป    รวมทั้งในอุดมคติ

คำเตือนโปรดเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 22:34 น.