คำนิยม-ครูเพื่อศิษย์

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คำนิยม

หนังสือ XXXX

วิจารณ์ พานิช

……………………

 

 

วาระสำคัญอันดับ ๑ ด้านการศึกษาของประเทศไทย คือการยกระดับคุณภาพ     ซึ่งเป้าหมายที่เป็น รูปธรรมคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (Learning Outcome) ของนักเรียน และบัณฑิต

ปัจจัยสำคัญอันดับ ๑ ต่อการบรรลุเป้าหมายนั้นคือ ครู    หรือกล่าวให้ชัดคือ คุณภาพครู     ครูที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้ของศิษย์     สำคัญกว่าหลักสูตร  สำคัญกว่า แทบเล็ต สำคัญกว่าการลดขนาดชั้นเรียน ฯลฯ

ครูที่ดี คือ ครูเพื่อศิษย์ เป็นครูที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อการเรียนรู้ของศิษย์     เป็นครูที่หมั่นศึกษาเรียนรู้ วิธีทำหน้าที่ครูยุคใหม่ ทำหน้าที่วางรากฐานชีวิตที่ดีของศิษย์

ดังนั้น เมื่อผมพบหนังสือ Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย ครู LouAnne Johnson  ผมจึงตีความเขียนลง บล็อก  GotoKnow.org เป็นบันทึกชุด จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ เผยแพร่ระหว่างวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔    ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔   แล้วได้นำมารวมเล่ม ร่วมกับบันทึกอื่นๆ เป็นหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ ๒๑ พิมพ์ออกเผยแพร่ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๕ และเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง     ทั้งๆ ที่ต้นฉบับของหนังสือทั้งเล่มสามารถ ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf

ต่อมาตอนปลายปี ๒๕๕๖ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ขอนำข้อความในบันทึกเหล่านั้น ไปรวบรวมจัดพิมพ์ เป็นเล่มแยกต่างหากในชื่อ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์ เพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีก

บัดนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดแปลหนังสือเล่มดังกล่าว     ออกเป็นหนังสือ xxxx    เพื่อเผยแพร่สาระดั้งเดิมของต้นฉบับ    ผมจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่สาระของหนังสือ ที่มีคุณค่ายิ่งเล่มนี้จะได้เผยแพร่ออกสู่สังคมไทย ทั้งฉบับแปลและฉบับตีความ    เพื่อกระตุ้นให้วงการศึกษาไทย ตื่นตัว ส่งเสริมให้ครูไทยศึกษาวิธีการทำให้ศิษย์จดจ่อ หรือสนุกอยู่กับการเรียน     อันเป็นแนวทางทำหน้าที่ครูยุคใหม่ … ครูแห่ง (คริสต) ศตวรรษที่ ๒๑

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว    ท่านจะเห็นคุณค่าของชีวิตครูที่สูงส่งยิ่ง    มีเหตุการณ์เรื่องราวที่เป็นรูปธรรม ให้เห็นว่าการเป็นครูที่ทุ่มเท มุ่งทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์ นั้นให้ความสุขทางใจ อย่างยากที่จะได้รับจากอาชีพอื่น    และหากอ่านระหว่างบรรทัด จะเห็นว่า วิชาชีพครูเอื้อให้มีการเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง     ดังตัวครูลูแอนน์เอง ก็เริ่มต้นชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ    เมื่อเข้าสู่อาชีพครู และได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ     นำมาปรับปรุงตนเอง      ชีวิตก็รุ่งโรจน์ เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีจำนวนหลายเล่ม

ผมเชื่อว่า มีครูไทยจำนวนหนึ่งที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์ อย่างไม่ท้อถอย (แม้ระบบการให้ความดี ความชอบครูจะไม่เอื้อ)     หากได้มีการเสาะหา และส่งเสริมให้ครูเหล่านั้น ได้ร่วมกันค้นคว้าทฤษฎี และเขียน หนังสือออกมาจากประสบการณ์ตรงของตน    ในทำนองเดียวกันกับที่ครู ลูแอนน์ จอห์นสัน เขียนหนังสือเล่มนี้  จะมีคุณประโยชน์ยิ่งต่อวงการศึกษาไทย

นอกจากนั้น หากจะส่งเสริมให้ “เกิดครูดีทั้งแผ่นดิน”    เราจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการให้คุณงาม ความดีแก่ครู    หรือระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพครู    โดยต้องเปลี่ยนมาผูกโยงความก้าวหน้าของครู และการยกย่องครู ไว้กับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์    ไม่ใช่ผูกโยงไว้กับ “ผลงานในกระดาษ” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตัวกระตุ้นให้เกิด “ครูดีทั้งแผ่นดิน” มีทั้งตัวกระตุ้นภายใน และตัวกระตุ้นภายนอก     ครูจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องมีตัวกระตุ้น ก็มีสำนึกภายในอยู่แล้ว มีการปฏิบัติตัวทำหน้าที่ ครูเพื่อศิษย์อยู่แล้ว     ครูเหล่านี้แหละที่ควร ส่งเสริมให้เผยแพร่อุดมการณ์และวัตรปฏิบัติของท่าน ผ่านการเขียนหนังสือเล่าเรื่องและตีความ    ดังตัวอย่างที่ครู ลูแอนน์ จอห์นสัน ทำ

การมีหนังสือทำนองนี้ และมีการสื่อสารการทำหน้าที่ครู ด้วยหัวใจความเป็นครูเพื่อศิษย์     และสื่อสาร คุณค่าของการเป็นครู  ที่มีส่วนคุณค่าและความสุขทางใจ ย่อมเป็นตัวกระตุ้นภายใน ให้เกิดขบวนการ “ครูดีทั้งแผ่นดิน”

เราต้องการกระตุ้นภายนอก ที่เวลานี้ชักนำไปผิดทาง     ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบการบริหารจัดการครู ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ    ที่เอาผลงานจัดการเรียนรู้ที่ให้ผลสัมฤทธิ์สูง เป็นตัวตั้ง สู่การเลื่อนวิทยะฐานะ

หนังสือ xxxx เล่มนี้ เขียนแนะนำวิธีปฏิบัติตัวของครู     ที่มีรายละเอียดมากมาย    เป็นความรู้ที่มาจาก ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน   ผมขอชี้ให้เห็นว่า ข้อความในหนังสือเป็นเรื่องราวที่ครู ลูแอนน์ นำมาจากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งครู ลูแอนน์ เริ่มเป็นครูเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒    และหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกจำหน่ายปี พ.ศ. ๒๕๔๘   ประสบการณ์ที่นำมาเขียน จึงน่าจะเก่ากว่า ๒๐ ปี  บรรยากาศการทำหน้าที่ครูจึงดูจะเน้นการเป็น “ครูสอน” มากไปหน่อย    เมื่อครูไทยยุคใหม่อ่านหนังสือเล่มนี้ พึงนำมาปรับ ให้เข้ากับการทำหน้าที่ “ครูฝึก” แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้เหมาะสม

ข้อสะกิดใจอีกประการหนึ่ง     ครู ลูแอนน์ เขียนหนังสือเล่มนี้ตามประสบการณ์ในโรงเรียนอเมริกัน    ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกับไทยหลายด้าน     วิธีการบางอย่าง หากจะนำมาใช้ในบริบทไทย น่าจะได้พิจารณาปรับ ให้เข้ากับนักเรียนไทยเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาสั้นๆ ของครู ลูแอนน์ ตามในบทนำหน้าแรก ถูกต้องตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ สมัยใหม่     และผมเชื่อว่า เป็น อกาลิโก  และใช้ได้กับนักเรียนในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม    ข้อความนั้น กล่าวดังนี้

 

ถ้านักเรียนเชื่อว่าความสำเร็จเป็นไปได้ พวกเขาจะพยายาม

ฉะนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ฉันทำในทุกชั้นคือช่วยให้นักเรียน

มีศรัทธาในตัวเอง และเชื่อว่าตัวเองสามารถเรียนรู้ได้

 

ผมขอแสดงความชื่นชม ที่ สสค. ดำเนินการแปลและเผยแพร่หนังสือ xxxx เล่มนี้    และขอตั้งความหวัง ว่าการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้จะเป็นชนวน จุดประกายการเปลี่ยนแปลงวิชาชีพครู    ให้หวนกลับมาเป็นวิชาชีพ ที่สูงส่ง ได้รับความเคารพและมีคุณค่าสูงดังในอดีต    ผ่านการเปลี่ยนแปลงวิธีทำหน้าที่ครู    และเปลี่ยนแปลง ระบบความดีความชอบครู    เพื่อให้เกิด “ครูดีทั้งแผ่นดิน”

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 22:53 น.