ปัญหาในการพิจารณาคุณค่า

วันอังคารที่ 27 กันยายน 2016 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

ปัญหาในการพิจารณาคุณค่า

คำถาม : เมื่อพิจารณาจากระบบประโยชน์อันได้แก่ ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวมแล้ว การสำเร็จนิพพานย่อมถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นจะมีคุณค่าที่ดีหรือไม่

หลักการ: การคิดประเด็นคุณค่านั้น ดังที่ได้ชี้ไว้แล้วว่าจะต้องพิจารณาผ่านระบบทั้ง 3 คือ ประโยชน์ ความดีและความสุข และถือเกณฑ์ผ่านอย่างน้อย 2 ใน 3 หากผ่านทั้ง 3 ระบบได้ ถือว่ามีคุณค่ามาก เรียกว่า ความสูงส่ง (sublime)

บริบทเบื้องต้น: การบรรลุนิพพานตามมุมมองของปัญหาได้มองผ่านระบบประโยชน์ แล้วจึงพิจารณาไปหาระบบความดี ทั้งนี้ยังไม่ได้มองผ่านระบบความสุข จึงเกิดกรอบการวิพากษ์ได้ ผู้ซักถามมิได้คิดสบประมาทหรือลบหลู่หรือถามในเรื่องไม่ควรถาม แต่การคิดคำตอบเป็นสิ่งที่น่าสนใจในฝ่ายศาสนา

คำตอบ: การพิจารณาด้วยระบบคุณค่าหนึ่งๆ นั้นเพื่อเป็นเกณฑ์ในการกรองสิ่งต่างๆว่ามีคุณค่าหรือไม่อย่างไร สิ่งสำคัญคือจะต้องพิจารณาทั้ง 3 ระบบ อย่างเท่าเทียมกัน มิใช่การพิจารณาไปทีละระบบตามลำดับขั้น

คำตอบจึงมีได้ดังนี้

1) หากพิจารณาไปตามกระบวนการกรอง (ไตร่ตรอง) เชิงคุณค่า การสำเร็จนิพพานย่อมได้คุณค่าดีจากระบบความดี และคุณค่าสุขจากระบบความสุข นั่นคือผ่าน 2 ใน 3 แม้จะมีผู้ชี้ว่าไม่ผ่านระบบประโยชน์ก็ตาม นิพพานก็ยังคงยืนยันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่นั่นเอง

2) หากพิจารณาย้อนกลับ นิพพานเป็นสภาวะสูงส่ง (สูงสุด) ของศาสนาพุทธ เป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องเป็น sublime แล้ว แสดงว่ามีการพิจารณาผ่านระบบคุณค่าทั้ง 3 ระบบมาแล้ว ว่าเป็นประโยชน์ เป็นความดี และเป็นความสุข ดังนั้นการนำสิ่งสูงส่งกลับลงมาคิดในระบบคุณค่าใหม่จึงเป็นเรื่องที่จะผกผันไปจากธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ ควรพิจารณาว่า นิพพานเป็นประโยชน์เพราะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ตามศาสนาพุทธมีจริง นิพพานก็ไม่ใช่เพียงเรื่องประโยชน์เฉพาะตนอีกต่อไป และการใช้การพิจารณาประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมนั้น กรอบคิดของลัทธิประโยชน์นิยมพิจารณาจากปัจเจกต่อสังคมและสิ่งที่ได้กระทำ ทั้งนี้ มิได้มีสิ่งใดที่เรากระทำแล้วจะไม่ส่งผลต่อสังคม (เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว) การสำเร็จนิพพานจึงย่อมมีผลต่อประโยชน์ส่วนรวมอยู่เช่นนั้น ข้อคำถามที่ถามว่าจะมีคุณค่าที่ดีหรือไม่จึงตกไปตั้งแต่ต้นแล้ว

ดังนั้น การพิจารณาคุณค่าสำหรับสิ่งที่ได้รับการยกเป็นสิ่งสูงส่ง (สูงสุด) แล้ว ย่อมต้องไตร่ตรองอย่างรอบด้านเนื่องด้วยมีความจริงรองรับ แต่จะมีผู้เชื่อความจริงนั้นเช่นไร อย่างไรย่อมเป็นไปตามสัดส่วนความเชื่อของหลักความจริง 5 ประการ คือ ความจริงปรัชญา ความจริงศาสนา ความจริงประวัติศาสตร์ ความจริงวิทยาศาสตร์ และความจริงคณิตศาสตร์

ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต 
27-9-59

ปล.ท่านใดทดลองคิดอย่างไตร่ตรองแล้ว พบคำตอบแบบที่ 3 (ตามกรอบความคิดเรื่องระบบคุณค่า) สามารถแสดงคำตอบและความคิดเห็นเพิ่มเติมได้

หลังจากได้อ่านบทความของ ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต แล้วมีความเห็นว่า

ผู้ถามเข้าใจว่า "การสำเร็จนิพพานย่อมถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นจะมีคุณค่าที่ดีหรือไม่" ผู้ตอบได้ยกแม่น้ำทั้งห้า เป็นการตอบแบบอ้อมไปอ้อมมา ผมมีความเห็นว่าควรจะตอบให้ตรงคำถามคือ การสำเร็จนิพานไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตนแต่เป็นประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านอย่างพิจารณาในทุกประโยคของบทความที่ ดร.เอนกเขียนมาก็ต้องยอมรับว่าท่านได้ตอบตรงปัญหา และพร้อมกับได้อธิบายถีงเรื่องความหมายของคุณค่าและความสูงส่งไปด้วย ท่านไม่ได้ตอบเฉพาะผู้ถามแต่ได้ตอบให้กับทุกคนทั้งที่รู้ความเป็นมาของคำถามและตอบผู้ที่ไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาของคำถามมาก่อน ถือว่าเป็นการสื่อสารของผู้ทรงปัญญา

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

27 กันยายน 2559

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 กันยายน 2016 เวลา 13:25 น.