แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ

วันพฤหัสบดีที่ 06 มิถุนายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ ข้อมูลจากหนังสือ พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม หน้า 17-20 โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

ปรัชญาเมธีในยุคนี้ยังเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัวจึงสามารถพัฒนาและปรับสภาพธรรมชาติของสังคมที่พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นว่ามนุษย์มีขีดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันโดยสมัครใจเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันและดำรงสันติภาพของสังคมเอาไว้ เมื่อพิจารณาทัศนะดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่านักคิดทางการเมืองในยุคคลาสสิคได้เป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวคิดว่าด้วยประชาคมสังคม เป็นแนวคิดเริ่มต้นที่เข้าใจว่า "ประชาสังคม" คือสังคมของพลเมืองที่มีความหมายในลักษณะเป็นสมาคมทางการเมืองของพลเมือง ตามแนวคิดในยุคโบราณนี้ ประชาคมสังคมกับรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้

แนวคิดประชาสังคมในยุโรปยุคโบราณ หมายถึง ปรัชญาการเมืองในยุคกรีกและโรมัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายุคคลาสสิค (Classical Tradition) .ในยุคนี้เข้าใจว่า "ประชาสังคม" หมายถึง สมาคมทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมโดยการออกกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้พลเมืองต้องทำร้ายซึ่งกันและกัน (Michael Edward.Civil Society.Cambridge : Polity Press,2004 page.6)

ในยุคนี้ แนวคิดประชาสังคมใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า สังคมที่ดี (good society) และมองว่าประชาสังคมไม่สามารถแยกให้เห็นความแตกต่างไปจากคำว่ารัฐ (state) ตัวอย่างเช่น โสเครติส (Socrates มีชีวิตอยู่ในช่วง 469 ถึง 399 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชาวเอเธนส์ ได้เผยแพร่คำสอนว่า ความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมควรจะได้รับการแก้ไขโดยผ่านกระบวนการถกเถียงสาธารณะโดยอาศัยหลักเหตุผลหรือที่เรียกกันว่า วิภาษวิธี (dialectic) เพื่อค้นหาความจริง ตามความเห็นของโสเครตีส การถกแถลงสาธารณะหรือการสานเสวนาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้ใส่ใจต่อบ้านเมือง (civility) และเพื่อสร้างวิถีชีวิตที่ดีในประชาคมทางการเมือง (polis)

ต่อมาเพลโต (Plato มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 427 ถึง 347 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เสนอแนวคิดรัฐในอุดมคติว่าเป็นสังคมที่อยู่กันอย่างมีทำนองคลองธรรมเป็นสังคมที่ประชาชนได้อุทิศตนให้กับความดีร่วมของคนทั้งมวล (common good)  ประพฤติปฏิบัติตนด้วยความประเสริฐทางศีลธรรม ผู้คนแสดงออกถึงปัญญา ความกล้าหาญ ความพอเพียง และความยุติธรรม ประชาชนประกอบอาชีพตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ผู้เป็นราชาจะต้องเป็นผู้ปราชญ์เปรื่อง เรียกว่า ราชานักปราชญ์ (philosophy king) มีหน้าที่ปกป้องดูแลการดำเนินกิจกรรมของประชาชน ที่แสดงความใส่ใจต่อบ้านเมือง

นักปรัชญาคนต่อมาที่กล่าวถึงประชาสังคมคือ ศิษย์ของเพลโต ชื่อว่า อริสโตเติล (Aristotle มีชีวิตอยู่ในช่วง 384 ถึง 322 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กล่าวว่า ประชาคมทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อผู้คนมาอยู่รวมกันจนเป็นเมืองหรือนครซึ่งอริสโตเติลใช้คำว่า polis ซึ่งเดิมโสเครติสให้ความหมายว่าคือประชาคมทางการเมือง แต่ polis ในความหมายของอริสโตเติล หมายถึงสมาคมแห่งสมาคมทั้งหลาย (association of associations) ที่พลเมืองมาแลกเปลียนความเห็นเกี่ยวกับการงานด้านการเมืองและการปกครองอย่างมีคุณธรรม การมาร่วมกิจกรรมเป็นสมาคมแบบนี้  อริสโตเติลใช้คำว่า koinonia politike มีความหมายเป็นชุมชนทางการเมือง (political community)

.ในสมัยโรมันปรัชญาเมธี ชื่อ ซิเซโร (Cicero มีชีวิตอยู่ในช่วง 106 ถึง 43 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับสังคมของพลเมือง (societas civilis) เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ซิเซโรให้ความสำคัญกับสังคมของพลเมืองว่าเป็นสังคมที่ดี (good society) อันเป็นหลักประกันถึงความมีสันติและมีระเบียบทางสังคมของประชาชน สังคมพลเมืองเป็นพื้นที่ปริมณฑลที่พลเมืองมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิต ประชาสังคมตามนัยของซิเซโรก็คือ สังคมที่ดีของพลเมือง

ปรัชญาเมธีในยุคคลาสสิคที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้แยกสภาพความเป็นรัฐกับความเป็นสังคมออกจากกัน แต่มีความเห็นว่ารัฐเป็นรูปแบบสังคมของชาวประชา การที่พลเมืองแสดงออกถึงความใส่ใจต่อบ้านเมืองเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะแสดงออกถึงความดีของความเป็นพลเมือง

ปรัชญาเมธีในยุคนี้ยังเห็นว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลอยู่ในตัวจึงสามารถพัฒนาและปรับสภาพธรรมชาติของสังคมที่พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นว่ามนุษย์มีขีดความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันโดยสมัครใจเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกันและดำรงสันติภาพของสังคมเอาไว้ เมื่อพิจารณาทัศนะดังกล่าวนี้อาจกล่าวได้ว่านักคิดทางการเมืองในยุคคลาสสิคได้เป็นผู้ริเริ่มนำเสนอแนวคิดว่าด้วยประชาคมสังคม เป็นแนวคิดเริ่มต้นที่เข้าใจว่า "ประชาสังคม" คือสังคมของพลเมืองที่มีความหมายในลักษณะเป็นสมาคมทางการเมืองของพลเมือง ตามแนวคิดในยุคโบราณนี้ ประชาคมสังคมกับรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างออกจากกันได้

เมื่อเวลาผ่านเข้าสู่ยุคกลาง (Middle Ages) ประเด็นความสนใจของนักปรัชญาการเมื่องได้เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากสภาพสังคมของยุโรปมีการจัดการปกครองในระบบศักดินา ( Feudalism) แนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมในยุคคลาสสิคได้หายไปจากกระแสความสนใจ ประเด็นที่นักปราชญ์ในยุคนี้สนใจคือปัญหาของสงคราม เป็นประเด็นกระแสหลักที่ถกกันจนกระทั่งสิ้นสุดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

6 มิถุนายน 2556