นายกพระราชทานตามมาตรา ๗

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2014 เวลา 00:00 น. พาชาญ พงษ์พิทักษ์ บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

ทรงเคยมีพระราชดำรัสไว้
นายกพระราชทาน 
ตามมาตรา ๗ 
ไม่เป็นประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

" ขอฝากไว้ เราจะขอบใจมาก เดี๋ยวมันยุ่ง เพราะไม่มีสภาผู้แทนฯ ก็ไม่สามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย เรามีสภาหลายแบบ และทุกแบบต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดหาทางที่จะแก้ไขได้ ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ต้องขอร้องแบบนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวก็มาบอกว่ามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ

มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำไป เขาจะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เขาอ้างถึงครั้งก่อนนี้ว่า รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นไม่มีสภา สภาไม่อยู่ ประธานสภาไม่อยู่ รองประธานสภาทำหน้าที่ เขามีนายกรัฐมนตรีที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ตอนนั้นไม่ใช่นายกฯพระราชทาน ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ นายกฯพระราชทานหมายถึงตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์

เมื่อครั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ฉะนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ และท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับอย่างไร ตอนนั้นสภาอื่นๆ แม้ที่เรียกว่าสภาสนามม้า เขาก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายสัญญา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

แต่ครั้งนี้เขาจะทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าผิด ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ที่ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองพ้นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้ "

จากนั้นมีพระราชดำรัสต่อผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม

" เวลานี้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วนก็ไม่ใช่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขอให้ท่านไปปรึกษากับผู้อยู่ฝ่ายปกครองประเทศ ตอนนี้มีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา เมื่อมีก็ต้องดำเนินการไป ขอให้ปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้

อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะการขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก เอะอะอะไรก็ขอนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้

มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีระบุในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มีที่อยากจะได้นายกฯพระราชทาน เป็นต้น การขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษนะ แบบมั่ว แบบไม่มีเหตุมีผล

ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่แจ่มใส สามารถที่จะคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือปกครองต้องมีสภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ทำงานไม่ได้ อาจจะหาวิธีที่จะตั้งสภาไม่ครบถ้วน ก็รู้สึกว่า มั่ว อยากจะขอโทษอีกที ใช้คำมั่ว ไม่ทราบใครจะทำมั่ว จะปกครองประเทศมั่วไม่ได้ จะคิดอะไรแบบปัดๆ ไปให้เสร็จไป ถ้าไม่ได้ก็โยนให้พระมหากษัติรย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจหน้าที่ ต้องขอร้องฝ่ายศาลให้ช่วยกันคิด

เวลานี้ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา และศาลอื่นๆ ประชาชนบอกว่าศาลดียังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ เพราะได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณากฎหมายที่ต้องศึกษาดีๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้ ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอดอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 500 คน ทำงานไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่าจะทำย่างไรให้ทำงานได้

จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน จะบอกว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในมาตรา 7 ไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีบทบัญญัติประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้ แล้วก็ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอร้องให้มีนายกฯพระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯแบบที่มีการรับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาอาจจะมาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 นี่ทำตามใจชอบ ซึ่งไม่เคยทำอะไรตามใจชอบเลย ตั้งแต่เป็นพระมหากษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ

ถ้าทำตามใจชอบบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ ว่าทำอะไรตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่มันไม่ต้องทำ ผู้พิพาษาศาลฎีกาจะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ไม่มีข้อที่จะห้ามได้มากกว่าศาลฎีกา มีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสิน

ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้พิจารณา เอาไปพิจารณา เอาไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอื่น ศาลปกครอง ว่าจะทำอะไร แล้วรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม

เมื่อสักครู่ดูทีวี เรือหลายหมื่นตันโดนพายุจมไปสี่พันเมตรในทะเล เขายังต้องดูว่าเรือนั้นจมไปอย่างไร เมืองไทยจะจมลงไปกว่าสี่พันเมตร กู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น ฉะนั้นท่านเองก็จะจมลงไป ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะจมลงไปในมหาสมุทร

เวลานี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุดในโลก ท่านก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ ปรึกษากับผู้มีความรู้ เขาเรียกว่า กู้ชาติ เวลานี้เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้อะไร เดี๋ยวนี้ชาติไม่ได้จม ฉะนั้นป้องกันไม่ให้จม แล้วจะได้ไม่ต้องกู้ชาติ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาดูดีๆ ว่าจะทำอะไร ถ้าทำได้ปรึกษาหารือกัน จริงๆ แล้วประชาชนทั้งประเทศและประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา และจะเห็นว่าผู้พิพากาษศาลฎีกายังมีน้ำยา เป็นคนมีความรู้ ตั้งใจที่จะกู้ชาติจริงๆ ถ้าถึงเวลา

ก็ขอขอบใจที่ทุกท่านตั้งใจจะทำหน้าที่ที่ดี บ้านเมืองก็รอดพ้น ไม่ต้องกู้ ขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติด้วยดี และประชาชนจะขออนุโมทนา ขอบใจแทนประชาชนทุกคนทั้งประเทศที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง ขอบใจที่ท่านสามารถปฏิบัติงานได้ดี มีพลานามัยแข็งแรง ต่อสู้เพื่อความดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศ ขอบใจ "

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2014 เวลา 16:15 น.